Search
พบกับผู้ชนะรางวัล Brick Award 22 รางวัลสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากอิฐแดง นานาชาติ

พบกับผู้ชนะรางวัล Brick Award 2022 รางวัลสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากอิฐแดง นานาชาติ

          กลับมาอีกครั้งกับ Brick Award 2022 เวทีประกวดสถาปัตยกรรมนานาชาติที่สร้างสรรค์จากอิฐแดง ด้วยความตั้งใจของ Wienerberger ผู้ให้บริการด้วยวัสดุก่อสร้าง และโซลูชั่นโครงสร้างชั้นนำระดับโลก ต้องการยกย่องสถาปัตยกรรมอิฐที่โดดเด่นจากทั่วโลก และแสดงให้เห็นว่าการใช้อิฐแดง วัสดุจากธรรมชาติ ธรรมดา ๆ แต่เมื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จะมีความน่าตื่นเต้น โดดเด่น และน่าทึ่งเพียงใด โดยการแข่งขันนี้ จะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี และปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ที่ Wienerberger ได้มอบรางวัลให้กับ 5 นักออกแบบ ซึ่งจะมีใครบ้าง และงานสถาปัตยกรรมของพวกเขาจะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย

ประเภทในการส่งโครงการเข้าประกวด 5 ประเภท ใน Brick Award 2022 

  • Living together : โซลูชั่นที่อยู่อาศัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยคำนึงถึงแนวโน้ม และความท้าทายของการขยายตัวของเมือง เช่น การขาดแคลนพื้นที่ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และความยืดหยุ่นของสภาพอากาศ ความท้าทายทางสังคม ตลอดจนแนวคิดการอยู่อาศัยแบบใหม่

  • Feeling at home : บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็ก ที่มีคุณภาพทางสถาปัตยกรรมสูง สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ราคาไม่แพง ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในเรื่องการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน

  • Working together : อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และอาคารอุตสาหกรรม ที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

  • Building outside the box : สร้างสรรค์งานนอกกรอบ โดยโฟกัสที่ระบบการจัดการตึกแบบหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน และการเลือกใช้อิฐ ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบใหม่ อิฐรูปแบบพิเศษ  อิฐที่สร้างขึ้นตามสเปคที่กำหนด รวมถึงการตกแต่งงานอิฐแบบใหม่และสร้างสรรค์

  • Sharing public spaces : อาคารสาธารณะเพื่อการศึกษาวัฒนธรรม และการดูแลสุขภาพ สถานที่สาธารณะ เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสวยงามเพียงพอ

          กระบวนการคัดเลือกแต่ละโครงการ มุ่งเน้นไปที่เกณฑ์เฉพาะ 5 ประเภท จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอิฐก่อสร้างสถาปัตยกรรม และเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนประกอบสำคัญของโครงการต้องประกอบด้วยวัสดุก่อสร้างจากดิน เช่น อิฐแดง บล็อกดินเผา หรือกระเบื้องดินเผา ตัวอาคารอาจเป็นโครงการสร้างใหม่ หรือการรีโนเวท และอิฐที่ใช้ สามารถเป็นได้ทั้งอิฐใหม่ หรืออิฐที่ใช้ซ้ำ โดยจะเลือกโครงการผู้ชนะทั้งหมด 5 รางวัลตามแต่ละเกณฑ์การตัดสิน จากโครงการที่เข้าชิงทั้งหมด 50 โครงการทั่วโลก

โครงการผู้ชนะการประกวดทั้ง 5 ประเภท ใน Brick Award 2022

Brick Award 2022

© Schnepp Renou, Frederic Delangle, Charlotte Donker, Simone Bossi

88 residential units + 1 retail space
ประเภทรางวัล : Living together
ผู้ออกแบบ : Avenier Cornejo Architectes จากฝรั่งเศส

          อาคารที่พักอาศัย 3 หลัง ตั้งอยู่ข้าง ๆ กับคลองโอวร์กในปันติน ผลงานการออกแบบของ Avenier Cornejo โดยมีห้องพักทั้งหมด 88 ห้อง และพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มเติมที่ชั้นล่าง อาคารทั้ง 3 หลัง มีการเรียงตัวเป็นรูปครึ่งวงกลมล้อมรอบลานขนาดเล็กที่เปิดออกสู่คลองด้านหน้า 

          สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่นี่ใช้วัสดุที่ทำจากดิน เป็นอิฐดินเผาทำมือ 3 สี คือสีเทาอ่อน สีเทาเข้ม และสีอิฐแดง แยกแต่ละตึก รวมถึงการก่อที่มีความเฉพาะตัว และพิถีพิถัน คล้ายกับลายสานเปล ช่วยสร้างมิติ และความโดดเด่นให้กับผนัง นอกจากนี้กรอบหน้าต่าง และโลหะราวระเบียงของแต่ละตึกก็ยังมีสีที่แตกต่างกันด้วย อย่างตึกสีเทาอ่อน ใช้กรอบโลหะสีเขียวอ่อน ตึกสีเทาเข้ม ใช้กรอบโลหะสีน้ำตาล และตึกสีอิฐแดง ให้กรอบโลหะสีเทา

Brick Award 2022

© Natura Futura

The House that inhabits
ประเภทรางวัล : Feeling at home
ผู้ออกแบบ : Natura Futura จากเอกวาดอร์

          บาบาโฮโยตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศเอกวาดอร์ มีประชากรประมาณ 150,0000 คน มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีที่อยู่อาศัยเพียงพอ ทำให้ผู้คนมองหาที่อยู่อาศัยรอบนอก เมื่อพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ Natura Futura Arquitectura ได้เสนอแนวทางใหม่ของการใช้ชีวิตในเมือง โดยการออกแบบบ้านสำหรับคู่รัก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาหลังเลิกเรียนด้วย

          โดยแบ่งสัดส่วนชั้นล่างให้เป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับกิจกรรมในเมือง ชั้นบนสุดถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยมีที่พักส่วนตัวอยู่ด้านหนึ่ง และโรงเรียนหลังเลิกเรียนอยู่อีกด้านหนึ่ง เน้นการถ่ายเทอากาศที่ดี การรับแสงจากธรรมชาติ และการใช้ทุกพื้นที่ของอาคารอย่างคุ้มค่า 

          แน่นอนว่าที่นี่ก่อสร้าง และตกแต่งด้วยอิฐแดง ในสไตล์เนเชอรัล ผสมความทันสมัยแบบสไตล์โมเดิร์นเล็กน้อย รับกับหลังคาทรงจั่วกว้าง และประตู หน้าต่างที่ทำจากไม้สีอ่อน ดูเข้ากันดี กับสีส้มอมน้ำตาลของผนังอิฐ

Brick Award 2022

© René Dürr

2226 Emmenweid 
ประเภทรางวัล : Working together
ผู้ออกแบบ : Baumschlager Eberle Architekten จากสวิตเซอร์แลนด์

          ชื่อ “2226 Emmenweid” มาจากแนวคิดเทคโนโลยีอาคาร ซึ่งรับประกันอุณหภูมิภายในอาคารที่คงที่ระหว่าง 22 ถึง 26 องศาเซลเซียส อาคารสี่ชั้นหลังใหม่ที่ออกแบบโดย Baumschlager Eberle Architekten ในเมือง Emmenbrücke ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดดเด่นด้วยการฉาบด้วยปูนขาวทับผนังอิฐแดงที่อยู่ด้านใน และการจัดวางหน้าต่างบานใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในผนัง 

         อาคารหลังนี้ทำงานโดยไม่มีเทคโนโลยีการทำความร้อน และการระบายอากาศ หมายความว่าในอาคารจะมีอุณหภูมิตั้งแต่ 22 ถึง 26 องศา ตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบ ที่อยากให้ผู้คนที่เข้ามาใช้งาน ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

Brick Award 2022

© Pedro Pegenaute

The Brick Wall
ประเภทรางวัล : Building outside the box
ผู้ออกแบบ : Neri&Hu Design and Research Office จากจีน

          โรงแรมบูติกสุดหรู ขนาด 20 ห้อง ริมทะเลสาบเล็กๆ ในเมือง Yangzhou ออกแบบโดยสตูดิโอชื่อดัง Neri&Hu ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวประมง และชาวนา ภายในมีโกดัง และกระท่อมเล็ก ๆ หลายหลัง เป็นโครงสร้างเก่าที่ยังคงเก็บรักษาไว้ตามคำขอของลูกค้า จึงได้ทำการรีโนเวท และนำมารวมกันภายในกำแพงอิฐที่สร้างใหม่ ซึ่งทำให้โครงสร้างทั้งหมดมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่เพียงแต่อาคารที่มีอยู่เดิมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เท่านั้น แต่ยังมีการนำระบบระบายอากาศแบบพาสซีฟมาใช้ด้วย โครงผนังทั้งหมดที่ทำให้การก่อสร้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำจากอิฐดินเผา ที่มีในท้องถิ่น สีของอิฐ เป็นสีเทากลางที่ดูสง่างาม ซึ่งเข้ากันได้ดีกับสีเอิร์ธโทน และความเป็นธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ลดทอนความหรูหราของตัวโรงแรมลง

Brick Award 2022

© Schran Image

Jingdezhen Imperial Kiln Museum
ประเภทรางวัล : Sharing public spaces
ผู้ออกแบบ : Studio Zhu Pei จากจีน

          ถ้ำอิฐแดงโค้งรูปทรงเตาเผาโบราณแห่งจิ่งเต๋อเจิ้น การออกแบบโครงสร้าง และการเลือกใช้วัสดุอย่างอิฐแดง มาก่อในรูปแบบที่น่าสนใจ และทันสมัยขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อประวัติศาสตร์การผลิตเซรามิกของเมือง ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผา” ของโลก ที่สืบสานภูมิปัญญากันมานานกว่า 1,700 ปี มีการใช้อิฐรีไซเคิล และอิฐใหม่ผสมผสานกันในโครงการนี้เพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งมีอาคารหลายหลังในเมืองที่สร้างจากเตาเผาที่พังแล้วเช่นกัน

          ห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นโดยการเทคอนกรีตระหว่างอิฐสองชั้น เป็นวิธีการก่อสร้างแบบเก่าที่ใช้ในการผลิตเตาเผาแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยขจัดความจำเป็นในการใช้นั่งร้าน และทำให้โครงสร้างมีน้ำหนักเบา ภายในซุ้มอุโมงค์ได้รับแสงสว่างจากแสงธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยส่วนปลายของซุ้มประตูแต่ละบานจะเปิดทิ้งไว้ หรือกั้นด้วยบานกระจกใส นอกจากนี้ยังมีสกายไลท์ทรงกระบอกที่เจาะอยู่บนเพดานของห้องใต้ดิน ทำให้เกิดเป็นช่องแสง ซึ่งเลียนแบบช่องควันของเตาเผาอิฐเก่า

          สำหรับ Brick Award 2024 การแข่งขันสถาปัตยกรรมจากอิฐดินเผาในครั้งถัดไป จะเปิดให้ส่งชื่อโครงการเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2022 – 14 มีนาคม 2023 ได้ทาง brickaward.com หรือติดตามข้อมูล ข่าวสารได้ที่ Instagram , LinkedIn และFacebook ของทาง Brick Award ผู้ส่งผลงานอาจเป็นสถาปนิก นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ นักพัฒนา หรือนักข่าวก็ได้ ไม่จำกัด ถ้าคุณเห็นผลงานของสถาปนิกไทยเจ๋ง ๆ ก็ส่งเลย พี่อิฐรอชมผลงานสวย ๆ ของสถาปนิกไทยอยู่นะครับ เพราะพี่อิฐเชื่อว่า ฝีมือของคนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน

Brick Award 2022 The Elephant World

The Elephant World จ.สุรินทร์ ประเทศไทย
ผลงานการออกแบบ Bangkok Project Studio
หนึ่งในโครงการที่ได้รับการเสนอชื่อ ใน Brick Award 2022

Share this post