“อิฐแดง” วัสดุหนึ่งที่เป็นได้มากกว่าแค่งานก่อโครงสร้าง ด้วยความแข็งแก่รง แฝงด้วยเสน่ห์ที่หลากหลาย อิฐแดงจึงเป็นวัสดุที่นิยมนำมาตกแต่งผนังเช่นกัน ในบทความนี้ พี่อิฐจึงอยากจะแชร์แพทเทิร์นในการก่อผนังอิฐแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ให้กับคุณครับ
Stretcher bond
การก่อแบบทั่วไป ที่เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ เป็นแพทเทิร์นเบสิคไม่ว่าจะในการก่อฉาบ หรือก่อโชว์ โดยใข้อิฐแดงขนาดเท่ากันมาเรียงต่อกัน เมื่อขึ้นแถวใหม่จะก่อแบบสลับแนวกับชั้นล่าง ก่อเรียงกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเต็มแผง
Stack Bond
การก่อลักษณะนี้ เป็นการก่อผนังที่เรียบง่าย และไม่ซับซ้อนที่สุด ซึ่งใช้อิฐแดงขนาดเท่ากัน ก่อเรียงกันไปเรื่อย ๆ เมื่อขึ้นแถวใหม่ก็ก่อให้ร่องหรือแนวปูนอยู่ตรงกัน สามารถก่อเหมือนกับชั้นแรกจนเต็มแผงได้เลย
Flemish bond
การวางอิฐในลักษณะนี้เป็นลักษณะที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสถาปนิกมักนิยมนำมาใช้ เป็นการวางสลับกันระหว่างอิฐแดงแนวขวางหน้ายาว กับหน้าตัด ในแถวเดียวกัน เหมาะกับการก่อโชว์ภายใน
English bond
เป็นการก่อสลับแถวกันระหว่างอิฐแนวนอน และแนวขวาง โดยสลับกันระหว่างแถวบน และแถวล่างซ้ำไปเรื่อยๆ การวางอิฐลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง ซึ่งเป็นลักษณะการวางที่เป็นที่นิยมสำหรับอาคารในอังกฤษ
Common Header bond
เป็นการก่ออิฐที่ผสมผสานระหว่างการก่ออิฐแบบ stretcher bond 4 แถว สลับกับการก่ออิฐแนวขวาง 1 แถว การก่อแบบนี้จะให้ทั้งความสวยงาม และแรงยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงขึ้น นอกจากก่อผนังแล้ว ยังเหมาะกับงานก่อสร้างที่มีความโค้ง เช่น ระเบียงโค้ง หรือเตา
Basket Weave Bond
การวางอิฐแบบสาน คล้ายการสานตะกร้า ส่วนมากนิยมก่อแบบแนวนอน 3 ก้อน สลับกับแนวตั้ง 3 ก้อน ให้แต่ละช่องมีรูปทรงสี่เลี่ยมจัสตุรัสเท่ากัน สามารถเพิ่มลูกเล่นได้ด้วยการเลือกสีอิฐที่แตกต่างกัน การก่อลักษณะนี้ยังนิยมมากในการนำไปปูพื้นอีกด้วย
Monk bond
ดูเผิน ๆ แล้วอาจคล้ายคลึงกับการก่อแบบ flemish bond แต่การก่อแบบ monk bond จะก่อแบบเรียงอิฐแนวนอน 2 ก้อนต่อกัน สลับกับอิฐแนวขวาง 1 ก้อน ไปเรื่อย ๆ เมื่อขึ้นแถวใหม่ก็ก่อสลับช่องไฟกับแถวด้านล่าง
นี่เป็นเพียงแค่รูปแบบการก่อผนังหลัก ๆ ที่นิยมใช้กันทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังมีการก่ออีกหลายรูปแบบ และการก่อที่คุณออกแบบได้เอง เพราะจินตนาการ และความสร้างสรรค์ไม่มีขีดจำกัด คุณก็สามารถมีแพทเทิร์นเป็นของตัวเองได้
ที่มา : baanlaesuan.com และ Pinterest.com