ในขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี หรือสภาพแวดล้อม รวมถึงวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทำให้สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลง นักสร้างสรรค์ ออกแบบสถาปัตยกรรมจะทำอย่างไร ที่จะอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่า ให้ก้าวเดินไปกับสมัยใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มีคำตอบครับ กับงานเสวนาออนไลน์ครั้งแรก “BEYOND ARCH WEBINAR #1” ของงานสถาปนิก64 ในหัวข้อ “มองเก่าให้ใหม่ในวิถี New Normal”
การปรับทัศน์ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ในวิถีใหม่ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของงานด้านสถาปัตยกรรม ในมุมมองของ 6 วิทยากร มากประสบการณ์ จะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้พี่อิฐสรุปมาให้เรียบร้อยแล้วครับ
แชร์มุมมอง “มองเก่าให้ใหม่ในวิถี New Normal การปรับทัศน์ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ในวิถีใหม่ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของงานด้านสถาปัตยกรรม และความต้องการของเทคโนโลยี หลังเกิดวิกฤติการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร?”
พลอากาศตรี หม่อมหลวง ประกิตติ เกษมสันต์ นายกสมาคมสภาสถาปนิก
“ งานของสถาปนิก คือ การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน” ซึ่งความต้องการ มีทั้งความต้องการทางกายภาพ ความต้องการด้านประโยชน์การใช้สอย และความต้องการทางด้านจิตใจ
มองเก่าให้ใหม่ ในมุมมองของพลอากาศตรี หม่อมหลวง ประกิตติ เกษมสันต์คือการมองเก่าด้วยมุมมองใหม่ มองด้วยทัศนคติใหม่ แทนที่จะมองว่าเก่า หรือไร้ค่า อาจจะมองคุณค่าที่เหลืออยู่ของสถาปัตยกรรม และหากต้องการรักษาสิ่งใด เราต้องหาโจทย์ให้กับสิ่งนั้นก่อน
ยกตัวอย่าง สกาลา ในแง่ของประโยชน์ใช้สอยของการเป็นโรงภาพยนตร์นั้นหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นหากอยากอยากสกาลายังคงอยู่ เราต้องหาโจทย์ใหม่ให้กับสกาลา เช่น คนกลุ่มหนึ่งอาจจะมีความผูกพันกับสถานที่นั้น ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจ
ในเรื่องของความต้องการของเทคโนโลยี หลังเกิดวิกฤติการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตในปัจจุบัน พลอากาศตรี หม่อมหลวง ประกิตติ มองว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติหรือไม่ ปัญหาในทีนี้อาจหมายถึงการไม่มี หรือมีไม่พอ และการไม่ดี หรือไม่ดีพอ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในยุคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid19 มีมากมาย รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป สถาปนิกก็ต้องเปลี่ยนตามด้วย
นอกจากนี้ยังทิ้งข้อคิดดี ๆ ให้กับสถาปนิกทุกคนไว้ด้วย ว่า “วิธีการ กระบวนการอาจเปลี่ยนไป แต่หน้าที่ของสถาปนิกไม่เคยเปลี่ยน งานของสถาปนิกคือการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน”
ผศ.ดร. ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย
ในฐานะของสถาปนิกผังเมือง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุด มองว่า “เมือง” เป็นสิ่งปลูกสร้าง เป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ในตัวเองอยู่แล้ว ตั้งแต่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานขึ้นมา ตัวเมืองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สิ่งที่เคยเป็นย่านเก่า เมืองเก่า ปัจจุบันมีการเข้าถึงโดยที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน อย่างเช่น คนที่เคยไปเยาวราช สมัยก่อนจะเดินทางไปยากมาก แต่ปัจจุบันมีสถานีรถใต้ดินวัดมังกร ทำให้คนที่อยู่ชานเมืองเข้าถึงย่านเมืองเก่าได้อย่างสะดวก สบาย
จากแผนพัฒนากรุงเทพฯ 250 จะเห็นว่า คนพยายามจะย้ายตัวเองกลับเข้าสู่เมืองเก่า ย่านประวัติศาสตร์จะเริ่มมีรถไฟฟ้าเข้ามา การที่เราจะสร้างสมดุล โดยสถาปัตยกรรมผังเมืองระหว่างคนกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามา ในขณะคนกลุ่มที่อยู่ในย่านนั้นจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะยุคที่เกิด New Normal ในช่วงที่เราต้องการ Social Distancing คือการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่ว่าพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในย่านเมืองเก่า มีลักษณะเป็นตรอก ซอก ซอย มีความใกล้ชิด เราจะทำอย่างไรให้ในขณะเดียวกันมีมิติของพื้นที่สาธารณะ แต่ก็สามารถรักษาระยะห่างได้
เมื่อถึงยุคหนึ่งที่ทุกคนอาจจะต้องอยู่แค่ภายในบ้าน มีการเชื่อมต่อกันด้วยโลกออนไลน์ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำการพัฒนาชุมชนที่เป็นเมืองกระชับ สามารถมองหาสาธารนูปโภคอยู่ในพื้นที่ที่เดินถึง เทคโนโลยีเหล่านี้บ่งบอกว่าชีวิตในอนาคต คือ การที่เมืองหรือย่านนั้น สามารถยั่งยืน อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง สามารถผลิตพลังงานของตัวเองได้
เพราะฉะนั้นการผลิตพลังงานจึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ที่สามารถทำให้ชุมชน หรือย่านต่าง ๆ ยั่งยืนด้วยตัวของมันเอง เช่น อาจมีการใช้ทางเท้า หรือทางจักรยานที่ผลิตพลังงานได้เมื่อคนเดินผ่าน หรือจักรยานที่ขี่ผ่าน ทำให้ตัวฟุตบาต เปลี่ยนการก้าวเดินเป็นพลังงาน แสดงว่าเมืองเก่านั้นจะต้องเพิ่มเทคโนโลยีในการที่จะทำให้ชุมชนนั้นอยู่ได้อย่างยั่งยื่น และสามารถกลับมามีชีวิตได้ใหม่เมื่อการรักษาระยะห่างทางสังคมหมดไป
คุณนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
สถาปนิกควรทำงานภายใต้ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือทำงานภายใต้ครรลองของธรรมชาติ?
ในยุคโควิด19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าทำไมสถาปนิกถึงต้องพัฒนาไปในแนวทางที่จะทำให้เราสามารถปรับตัวอยู่กับครรลองของธรรมชาติได้ เพราะเราไม่สามารถต่อสู้กับธรรมชาติได้ แค่ธรรมชาติเอาไวรัสตัวหนึ่งจากสัตว์ป่าเข้ามาสู่คนได้หนึ่งคน ก็ส่งผลกระทบไปทั้งโลก
การอนุรักษ์ ควบคู่กับการพัฒนาจะต้องมีสาขาวิชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องของ Engineering เรื่องของการวางภาพ และผังเมือง การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งวิชาชีพสถาปนิก แล้วก็ภูมิสถาปนิกที่จะต้องไปขับเคลื่อนทางได้นโยบาย เพื่อที่เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีก่อนที่จะทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเข้าใจบทบาท และระบบของธรรมชาติ ก่อนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง
ในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า คนโหยหาธรรมชาติมากแค่ไหน ในจังหวะที่เราไม่สามารถออกไปในพื้นที่สวนสาธารณะได้ เราจะเห็นถึงความจำเป็นของการมีพื้นที่สาธารณะใกล้ ๆ ตัว ก็เลยคิดว่า ถึงเวลาที่เราจำเป็นจะต้องสอดแทรกความเป็นธรรมชาติ สอดแทรกระบบนิเวศอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองแล้วหรือยัง
การที่เราจะให้ธรรมชาติอยู่ในเมืองได้ จำเป็นต้องมีลฟ์ซัพพอร์ต ให้ธรรมชาติสามารถอยู่รอด เช่น ต้นไม้บนทางเท้า ยากมากที่จะทำให้ต้นไม้มีชีวิตอยู่ได้เพราะไม่มีสิ่งที่ช่วยล่อเลี้ยงให้เขาเติบโตได้ หากมีเทคโนโลยีที่มอนิเตอร์คุณภาพและสุขภาพของต้นไม้ได้เรื่อย ๆ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สามารถทำให้โครงสร้างใต้ดินของต้นไม้อยู่ไปกับงานระบบต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ทางเท้า ก็จะทำให้เราสามารถมีธรรมชาติอยู่ในเมืองได้อย่างยั่งยืน
คุณวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย
“สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือการที่เราสามารถชุบชีวิตประวัติศาสตร์ ให้เป็น Living History ที่ยังมีชีวิตอยู่กับความเป็นปัจจุบัน”
Heritage Buildings เหมือนขุมทรัพย์ เพราะในอาคารนั้น ๆ มีหลากหลายอย่างที่มีคุณค่า ทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ทำให้เรารู้ถึงความเป็นอยู่ที่ผ่านมาในอาคารนั้น ๆ และคุณค่าของความทรงจำ ว่าอาคารนั้น ๆ เคยใช้ทำอะไร เพราะฉะนั้นอาคารเก่า ๆ ของเราทั้งหลาย ที่ได้อนุรักษ์ หรือยังไม่ได้อนุรักษ์ก็ตาม คือขุมสมบัติอันใหญ่หลวง
เราจะทำอย่างไรที่จะชุบชีวิตใหม่ให้กับขุมสมบัติ และทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมเก่าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน ความท้าทายของนักออกแบบสร้างสรรค์ หรือสถาปนิก เมื่อได้เห็นอาคารที่มีประวัติ มีวัฒนธรรมแข็งแกร่ง ไม่ใช่การทำเก่าเป็นใหม่ แต่มองในแนวใหม่ จะทำอย่างไรที่จะชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ได้ เป็นความท้าทายมากที่ว่า อาคารนี้เอาไปทำอะไรดี
อย่างFour Seasons Hotel Istanbul At The Bosphorus โรงแรมที่เคยเป็นคุกเก่า ไม่ใช่ตึกใหม่ที่สร้างขึ้นมา ซึ่งเราเคยชินในความเป็นอยู่ของตัวอาคารในชนิตหนึ่ง แต่เราจะต้องกลับมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะเป็นความท้าทาย และสนุก ที่เพิ่มคุณค่า ให้กับ Heritage เก่า เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเพื่อที่จะสามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง
คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมชานูปถัมภ์
“สถาปัตยกรรมที่ดีที่สุด คือการไม่สร้างสถาปัตยกรรมเลย” ไม่ได้หมายถึงว่าการไม่สร้างอาคารเลย แต่หมายถึงการนำอาคารที่มีอยู่กลับมาทำใหม่ และเข้าใจคุณค่าของมันอย่างแท้จริงให้ได้ โดยไม่สร้างมลพิษที่เกิดจากการก่อสร้าง ไม่สร้างอาคารที่เป็นขยะต่อไปในอนาคต และต้องอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งจะทำอย่างไรให้อาคารในยุคใหม่สามารถกลืนกับธรรมชาติได้
เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่า คนมักพูดขึ้นว่าให้นำไปทำเป็นภิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือศูนย์ศึกษาต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องคิดให้หนักมากขึ้น เมื่อเรารักอะไรมาก ๆ เราไม่ควรให้เขาเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตรงนั้น แล้วปล่อยให้ตายไปตามกาลเวลา รอการมาซ่อมแซมอีกครั้ง
ความงามของการอนุรักษ์ ไม่ได้อยู่แค่การใช้งาน แต่ซ่อนอยู่ในวัสดุ และการทำงานของช่างในแต่ละยุค เป็นขุมสมบัติทางปัญญา และขุมสมบัติทางวัฒนธรรม ได้เห็นฝีมือ และความละเอียดในเนื้องานจากยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีมากนัก
ตอนนี้ในโลกของการอนุรักษ์ หรือโลกของการที่จะทำให้มรดกทางวัฒนธรรม การที่จะทำให้สถาปัตยกรรมเก่าอยู่ร่วมกับโลกสมัยใหม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิด แนวความคิดของเรื่องการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่เรื่องของสถาปัตยกรรม การออกแบบ และภูมิทัศน์ แต่รวมไปถึงเรื่องของการเงิน และเศรษฐกิจ และการเป็นช่างฝีมือที่สามารถหาได้ในงาน ASA ที่จะถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็นการอนุรักษที่ถูกต้อง และควรจะเป็นสำหรับพัฒนาเมืองต่อไป
คุณศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออแกไนเซอร์ จำกัด
มิชชั่น พันธกิจหลักของบริษัท คือต้องการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือสิ่งต่าง ๆ มาพัฒนาธุรกิจการก่อสร้าง ธุรกิจการออกแบบ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก และในส่วนหนึ่งทางบริษัทมีแพลตฟอร์มที่จะมาพัฒนางานเอ็กซิบิชั่นต่าง ๆ ที่ทางสถาปนิกจัด จะทำอย่างไรให้โกอินเตอร์มากขึ้น และทำอย่างไรที่จะมีพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในการที่จะดึงผู้เข้าชมงานมาจากภูมิภาคอาเซียนต่าง ๆ เพื่อที่เมืองไทยจะเป็น Marketplace ในการส่งเสริมอาชีพเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม
ทั้งหมดนี้ คุณสามารถฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook งานสถาปนิก : ASA EXPO หรือไปเจอกับตัวจริงของทั้ง 6 วิทยากร ที่งานสถาปนิก’64 ‘มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage’ วันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
แล้วพบกันกับการสรุปเสวนาออนไลน์ “BEYOND ARCH WEBINAR #2” ในหัวข้อ “New Normal ในมุมมองของผู้ผลิตและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม” เร็ว ๆ นี้ ที่อิฐแดง2009