อิฐแดงมีคราบสีขาว หลายคนคิดว่าเกิดจากกระบวนการผลิต อย่างการเผาที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้สีของอิฐออกมาไม่สม่ำเสมอกัน ส่งผลต่อความแข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ ถ้าอย่างนั้นคราบสีขาวที่อยู่บนตัวอิฐเกิดจากอะไร วันนี้พี่อิฐมีข้อมูลดี ๆ มาตอบข้อสงสัยนี้แล้วครับ
ปัจจัยที่ทำให้อิฐเกิดคราบสีขาว
1. ดิน วัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะดินเหนียวปนทราย ซึ่งในดินมีสารประกอบ และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียมซัลเฟต แมกนีเซียมซัลเฟต หรือเรียกว่าเกลือซัลเฟต พบมากในดินที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร สารประกอบเหล่านี้จะระเหยออกมาสะสมที่ผิวของอิฐแดงหลังการเผา ทำให้อิฐมีคราบสีขาวอย่างที่เห็น
จากภาพงานวิจัยการลดคราบขาวในผลิตภัณฑ์เซรามิกโดยการควบคุมสารละลายซัลเฟตพบว่าการเผาอิฐแดงในอุณหภูมิที่สูงมีแนวโน้มลดการเกิดคราบสีขาวได้ จากภาพจะเห็นได้ว่าดินเหนียวที่เผาในอุณหภูมิ 1000 องศาเซลเซียส เริ่มจะไม่เห็นคราบสีขาวแล้วเมื่อเทียบกับการเผาในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารประกอบที่อยู่ในดินด้วย โดยเกลือซัลเฟตจะสลายตัวที่อุณหภูมิ 1900 องศาเซลเซียส แต่การผลิตอิฐแดงทั่วไป จะใช้อุณหภูมิในการเผาอยู่ที่ 900-1200 องศาเซลเซียส เท่านั้น ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้อิฐออกมาสุกดี มีความแข็งแกร่งตามที่ต้องการ
2. น้ำ อีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตอิฐ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนบ่มดิน การผสม และน้ำที่มาพร้อมกับดิน อาจมาจากหลายแหล่ง เช่น น้ำบาดาล แม่น้ำ ทะเลสาบ ซึ่งน้ำก็มีสารประกอบของเกลือซัลเฟต จึงส่งผลให้เกิดคราบสีขาวบนผิวหน้าอิฐได้เช่นกัน
หลังจากอ่านจบ ก็คงไม่ต้องกังวลเรื่องความแข็งแกร่งหรือไม่แล้วนะครับ เพราะคราบสีขาวที่เราเห็นกันไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ แต่เป็นเพียงเพราะสารประกอบเกลือซัลเฟตที่อยู่ในดินและน้ำตามธรรมชาติเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องความสวยงาม ก็ตามความชอบของแต่ละคนเลยครับ เพราะนิยามของผนังอิฐเปลือย หรือผนังอิฐโชว์แนว คือ ความแตกต่างแต่ลงตัว โดยเฉพาะอิฐโบราณ ที่ยิ่งมีสีแตกต่างกันก็ยิ่งสวย
คำแนะนำ : หากไม่ชอบ หรือต้องการลบคราบสีขาวที่อยู่บนตัวอิฐออก พี่อิฐแนะนำให้ใช้น้ำมันเคลือบหิน หรือน้ำยากันตะไคร่ทาเคลือบลงไป จะทำให้อิฐมีสีเข้มขึ้น และลดคราบสีขาวลง
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
– โครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ เรื่อง การสำรวจสถานภาพและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตอิฐก่อสร้าง
โดย สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อวิจัย
– วิจัยการลดคราบขาวในผลิตภัณฑ์เซรามิกโดยการควบคุมสารละลายซัลเฟต
– วิจัยเรื่องผลกระทบของเกลือซัลเฟตต่อผลิตภัณฑ์เซรามิก โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก