Search
สถาปัตยกรรมอิฐแดง จาก Brick Award การประกวดที่สร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิกทั่วโลก

สถาปัตยกรรมอิฐแดง จาก Brick Award การประกวดที่สร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิกทั่วโลก

        Brick Award เป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้นในระดับสากล และนำเสนอสถาปัตยกรรมอิฐแดงที่โดดเด่นจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดย Wienerberger AG ที่ริเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2004 ด้วยแนวคิดที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าการใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างอิฐแดงนั้น จะสร้างสรรค์ผลงานด้านงานก่อสร้าง ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นเต้น โดดเด่น และทันสมัยได้อย่างไร

        เกณฑ์การตัดสินของ Brick Award ไม่ได้ตัดสินแค่เพียงความสวยงามของการออกแบบเท่านั้น แต่โครงสร้างของโครงการจะต้องเป็นไปตามกฏระเบียบของการก่อสร้างอาคาร คุณภาพ และประเด็นเกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น ประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน รวมถึงต้องสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยการประเมินมาจากสถาปนิกชื่อดังระดับนานาชาติ เช่น Helena Glantz, Urban Design จากสวีเดน Jonathan Sergison, Sergison Bates Architects จากสหราชอาณาจักร และ Mette Kynne Frandsen, Henning Larsen Architects A / S จากเดนมาร์ก
© Courtesy of Wienerberger
© Courtesy of Wienerberger

        ในแต่ละปีทาง Brick Award จะกำหนดประเภทในการส่งผลงานเข้าประกวดที่อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับแนวโน้มการพัฒนาในปัจจุบัน มีทั้งหมด 5 ประเภท เช่น

  • Sharing public spaces : อาคารสาธารณะ เช่น ห้องสมุด มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ที่มีความสวยงามจากการออกแบบ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Living together : บ้านหลายครอบครัว ที่อยู่อาศัย ที่ปรับตัวโดยคำนึงถึงแนวโน้มและ ความท้าทายของการขยายตัวของเมือง เช่น การขาดแคลนพื้นที่
  • Feeling at home : บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และโครงการบ้านขนาดเล็กที่มีคุณภาพทางสถาปัตยกรรมสูง
  • Working together : อาคารพาณิชย์ สำนักงาน อาคารอุตสาหกรรม ที่ดูมีความสะดวกสบายในการใช้งาน และสวยงาม
  • Building outside the box : การใช้อิฐแดงมาสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดใหม่ ๆ หรือใช้อิฐแดงแบบพิเศษที่สั่งผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะ

        และในปีที่ผ่านมา กับ Brick Award 20 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 644 โครงการ จาก 55 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ผู้ชนะทั้ง 5 สาขา เรียบร้อยแล้ว จะมีผลงานจากประเทศใดบ้าง และจะสวยแค่ไหนในบทความนี้มีให้ชมครับ

© Adrià Goula
© Adrià Goula

University of Silesia, Faculty of Radio and Television,Poland

ประเภทรางวัล : ผลงานที่ชนะรางวัลใหญ่ และผู้ชนะในประเภท Sharing public spaces

สถาปนิก : BAAS Arquitectura  จากสเปน,  Grupa 5 architekci  จากโปแลนด์ และ Maleccy biuro projektowe จากโปแลนด์

 

        คาโตไวซ์เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตถ่านหิน แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1940 ได้มีการต่อสู้ของนาซี และโซเวียต ทำให้อาคารบ้านเรือนถูกทำลาย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ จึงสร้างขึ้นจากการบูรณะตึกแถวเก่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่

 

        จุดเด่นคือการใช้อิฐใหม่ ผสมผสานกับอิฐเก่าสีเข้ม จากการเผาด้วยเตาเผาเชื้อเพลิงถ่านหินแห่งสุดท้ายของยุโรปในทศวรรษที่ 19 มาก่อเป็นโครงสร้างที่มีช่องว่างมากมาย ซึ่งสานต่อมาจากตัวอาคารเดิม เป็นประโยชน์ในการรับแสง และการเพิ่มบานกระจกเงาเข้าไป ทำให้ตัวอาคารที่มืดทึบโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งสถาปนิกแสดงให้เห็นว่าสามารถสร้างสรรค์อาคารสมัยใหม่ ในขณะที่ยังอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าไว้ด้วยกันได้อย่างดีเยี่ยม

© Rafi Segal, Monica Hutton, Andrew Brose
© Rafi Segal, Monica Hutton, Andrew Brose

Prototype Village House, Rwanda

ประเภทรางวัล : Living together

สถาปนิก : Rafi Segal and the MIT Rwanda Workshop Team, USA

 

        บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับที่อยู่อาศัย ในโครงการของรัฐ ร่วมกับนักศึกษาอาสาสมัครที่ต้องการส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านในชนบทให้มีความทันสมัย กับงบประมาณที่มีอย่างจำกัด จึงเลือกใช้วัสดุที่สามารถผลิต และหาได้ง่ายในพื้นพื้นถิ่นอย่างอิฐแดง รวมเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ บ้านจึงมีรูปทรงสไตล์โมเดิร์น บนพื้นที่ 68 ตารางเมตร ที่พร้อมรองรับครอบครัวขนาดใหญ่ โดยก่อผนังอิฐให้เป็นช่องเปิดในบางจุด ซึ่งช่วยให้แสง และอากาศจากภายนอกถ่ายเทเข้ามาได้ 

 

        นอกจากนี้ยังเลือกหลังคาเพิงหมาแหงน มากำหนดทิศทางของน้ำฝนให้ไหลลงไปสู่รางน้ำที่รออยู่ด้านล่าง ใช้สำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน และปัญหาการขาดแคลนน้ำในทวีปแอฟริกา

© Rafael Gamo
© Rafael Gamo

Iturbide Studio ,Mexico

ประเภทรางวัล : Feeling at home

สถาปนิก : Architects: TALLER | Mauricio Rocha + Gabriela Carrillo, Mexico

 

          สตูดิโอของเล็ก ๆ ในแม็กซิโก ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณใกล้เคียงกับบ้าน โดยมีเงื่อนไขเดียว คือต้องสร้างด้วยอิฐ สถาปนิกจึงตอบสนองความต้องการนี้ด้วยป้อมปราการขนาด 3 ชั้น ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐขนาดพิเศษที่ก่อในแนวตั้ง และแนวนอน สลับกันไปมาให้เกิดช่องว่าง และเทคนิคแบบ Openwork เล่นแสงเงา สร้างมิติบนผนังที่จะเปลี่ยนไปตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ภายในดูมีชีวิตชีวา แม้จะถูกปกป้องจากโลกภายนอกก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ถูกตัดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ด้วยช่องว่างของอิฐ

© TedA Arquitectes
© TedA Arquitectes

Can Jaime I n’Isabelle,Spain

ประเภทรางวัล : รางวัลพิเศษในประเภท Feeling at home

สถาปนิก : TEd’A arquitectes

 

        ในประเภทเดียวกัน Can Jaime I n’Isabelle ได้ถูกเสนอชื่อให้รับรางวัลพิเศษ ซึ่งบ้านเดี่ยวในมายอร์กาแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลาดเอียง มีรูปแบบร่วมสมัย โดยเน้นการใช้พื้นที่สี่เหลี่ยม รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนป้อมปราการที่มีกำแพงล้อมรอบอย่างมิดชิด แต่การตกแต่งภายในกลับเปิดโล่งด้วยช่องของอาคารจากด้านบน และกระจกใส ที่เชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กับควาบมต้องการที่จะปรับภูมิทัศน์ของบ้านให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ 

 

        นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำไมหลังคาของบ้านหลังนี้ถูกปกคลุมไปด้วยพืชพันธุ์สีเขียวชะอุ่ม ท่ามกลางภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน และสามารถกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบด้วยพื้นผิวจากวัสดุที่ไม่ถูกปรุงแต่ง อย่างอิฐแดง หิน และผนังปูนเปลือย

© Stefan Müller
© Stefan Müller

City Archive Delft ,Netherlands

ประเภทรางวัล : Working together

สถาปนิก : Gottlieb Paludan Architects and Office Winhov 

 

        หอจดหมายเหตุเมืองเดลฟต์ อาคารสาธารณะ และสำนักงานที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บความรู้ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตัวอาคารมีรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เรียบง่าย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนของชั้นล่างที่เปิดโล่งด้วยบานกระจกใส สอดคล้องกับบทบาทของการเป็นพื้นที่สาธารณะ 

 

        ส่วนด้านบนปิดทึบ ห้อมล้อมด้วยผนังอิฐแดงที่ก่อในลักษณะคล้ายกับชั้นหนังสือ โดยมีแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปสีขาวเป็นเหมือนชั้นวาง และเสาอิฐเป็นเหมือนกับสันของหนังสือที่วางเรียงกันสูงบ้าง ต่ำบ้าง ดูสวย แปลกตา และแข็งแกร่ง มั่นคง ยืนยาว เหมาะกับการเป็นสถานที่เพื่อรองรับคนที่จะเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

© Edmund Sumner
© Edmund Sumner

Maya Somaiya Library , India

ประเภทรางวัล : Building outside the box

สถาปนิก : Sameep Padora & Associates, India

 

        ห้องสมุดสำหรับเด็กที่โรงเรียน Shri Sharda English Medium ในอินเดีย โดดเด่นด้วยหลังคารูปทรงโค้งแปลกตาที่สร้างจากอิฐ ด้วยแนวคิด “ด้านในสำหรับการศึกษา ด้านบนสำหรับเล่น” ช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ และช่วยส่งเสริมแรงบันดาลใจในการศึกษา

 

        เส้นโค้งผสมของโครงสร้างที่ซับซ้อนเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ 3 มิติ ที่่ร่วมมือกับความละเอียดอ่อนของช่างในพื้นถิ่น และวัสดุประสานอย่างปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์สมัยใหม่ที่มีการแข็งตัวเร็ว หลังคานี้จึงสามารถเดินขึ้นไปได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักเบาพอที่จะไม่สร้างภาระให้กับโครงสร้าง ไม่เพียงแต่เป็นความสามารถในการใช้เทคนิคการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี และวัสดุธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม

        สำหรับครั้งถัดไป กับ Brick Award 22 สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคา – 8 เมษายน 2021 ผู้ส่งต้องเป็นสถาปนิก นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมระหว่างประเทศ หรือนักข่าว โดยจะเปิดเผยชื่อโครงการที่ถูกเสนอชื่อ 50 โครงการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ผลงานที่ชนะการประกวดในแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัล และถูกบันจุผลงานลงใน Brick Book ที่ตีพิมพ์โดย Park Book บริษัทสื่อสื่งพิมพ์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมชื่อดังในยุโรป ดูรายละเอียด และติดตามข่าวสารเพิ่มเติม รวมถึงส่งผลงานได้ที่ brickaward.com

SUBMIT BRICK AWARD

        เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับโครงการดี ๆ ที่พี่อิฐนำมาฝาก หวังว่าจะเป็นกำลังใจให้กับสถาปนิกไทยในการสร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ที่งดงาม และตอบโจทย์การใช้งานที่ยั่งยืน เพื่อจะได้ส่งไปประกวดบ้าง และแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่าสถาปนิกไทยก็เจ๋งไม่แพ้กัน

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก Brickaward.com

Share this post