เชื่อว่าเมื่อพูดถึงการสร้างบ้าน หรือแม้แต่ที่พักอาศัยอื่น ๆ เช่น หอพัก คอนโด วัสดุก่อผนังชนิดแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นอิฐแดง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ผนัง Precast concrete ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าผนังรูปแบบใหม่ อย่างผนังคอนกรีตสำเร็จรูป กับผนังแบบดั้งเดิมอย่างผนังอิฐแดงฉาบปูน มีความแตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกใช้ผนังแบบใดดีที่จะตอบโจทย์ความต้องการของคุณมากที่สุด
ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast)
ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ ผนัง Precast Concrete คือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กที่ได้ทำการหล่อขึ้นรูปเป็นผนังไว้เรียบร้อยแล้ว ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตที่สม่ำเสมอ การนำไปใช้งานก็สะดวก เพียงแค่นำชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปประกอบกันที่หน้างาน โดยใช้เหล็กโดเวล ขนาดไม่ต่ำว่า 16 มม. เป็นตัวเชื่อมแผ่นผนังกับตัวคานดิน และใช้แผ่นเหล็กเชื่อมผนังกับผนัง และใช้เพียงแค่ปูนทรายฉาบทับปิดรอยต่อของแผ่นเหล็กเพื่อเก็บความเรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องมีเสา โครงสร้าง เพราะตัวผนัง Precast ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างในตัวของมันเอง
ปัจจุบันผนังสำเร็จรูป เป็นที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม เช่น โครงการบ้านจัดสรร หรือคอนโด ที่ต้องก่อสร้างพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และเพื่อตอบสนองการขยายตัว ผนังคอนกรีตสำเร็จรูปจึงตอบโจทย์ด้านความรวดเร็วในการก่อสร้าง และช่วยประหยัดงบประมาณค่าแรงงาน
ผนังอิฐแดง ก่อฉาบปูน
ผนังอิฐแดงแบบดั้งเดิมที่คงไม่มีใครไม่รู้จัก ก่อด้วยวัสดุที่แข็งแกร่ง ทนทานอย่างอิฐแดง โดยเกิดจากการนำดินเหนียวมาปนทรายผสมกับแกลบ หรืออาจใช้วัสดุอื่นแทน แล้วนำไปเผาให้สุก ซึ่งนิยมใช้ในงานก่อสร้างกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันอิฐแดงมีหลากหลายประเภทให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นอิฐแดงตัน อิฐแดง 2 รู อิฐแดง 4 รู อิฐ ไปจนถึงอิฐแดง 8 รู อิฐแดงยังมีหลายขนาด จึงสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย
นอกจากนี้ยังมีอิฐมอญโบราณ ที่นิมยมในการนำไปก่อโชว์ หรือทำผนังอิฐแดงเปลือย เพราะมีสี และผิวสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ ให้ความรู้สึกอบอุ่น เท่ และคลาสสิก ตามการออกแบบ ที่ไม่มีวัสดุใดเหมือน
เปรียบระหว่าง ผนัง Precast กับ ผนังอิฐแดง ฉาบปูน
ด้านการก่อสร้าง
ด้วยรูปแบบวัสดุทำผนังที่แตกต่างกัน ทำให้ผนัง Precast นั้นมีการก่อสร้างได้รวดเร็วกว่าการใช้อิฐแดงก่อผนัง ซึ่งการก่อผนังอิฐแดง 1 วัน จะได้ประมาณ 10 ตารางเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของอิฐแดงที่เลือกใช้ และฝีมือของช่าง ส่วนการประกอบผนังคอนกรีตสำเร็จรูป 1 วัน อาจได้เท่ากับบ้านชั้นเดียว 1 หลังเลยก็ได้ครับ
ด้านค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าแรง+ค่าวัสดุ
ผนัง Precast มีราคาผลิตที่สูงกว่า แต่ก็ใช้แรงงานในการสร้างน้อยกว่า ส่วนผนังอิฐแดงนั้น ตัววัสดุอย่างอิฐแดงมีราคาที่ถูกกว่า แต่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการก่อสร้างมากกว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างของผนังทั้ง 2 ประเภท จึงดูจะไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ครับ
ด้านคุณภาพความแข็งแรง ทนทาน
เนื่องจากการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผนัง Precast มีมาตรฐานที่สม่ำเสมอเท่ากันทุกชิ้น จึงมีความแข็งแกร่ง ทนทาน คุณภาพดี กว่าผนังอิฐแดง แต่ผนังอิฐแดงเอง เราก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามีความแข็งแกร่ง ทนทานมาก หลักฐานจากสถาปัตยกรรมโบราณที่อยู่มานับ 1,000 ปี เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบคุณภาพของผนังทั้ง 2 ประเภท จึงถือว่ามีความแข็งแกร่ง ทนทานที่ใกล้เคียงกันครับ
ด้านการกันเสียง
ผนัง Precast จะกันเสียงได้มากกว่าผนังอิฐแดงก่อ ด้วยลักษณะของผนังที่หนาแน่น ทำให้ผนังคอนกรีตสำเร็จรูปสามารถป้องกันเสียงได้ดี ส่วนผนังอิฐแดงซึ่งมีรูระบายอยู่ภายใน ทำให้กันเสียงได้ในระดับพอประมาณครับ
ด้านการอมความร้อน
แน่นอนว่าเมื่อผนัง Precast สามารถกันเสียงจากภายนอกได้ดีแล้ว เพราะตัวผนังไม่มีรูระบาย และภายในมีเหล็กอยู่เป็นจำนวนมาก การอมความร้อนจึงมีมากกว่าผนังอิฐแดงก่อที่มีรูระบาย
Tip : ต้องการก่อผนังอิฐแดงให้บ้านเย็น พี่อิฐขอแนะนำการก่อผนังอิฐแดง 2 ชั้น หรือการติดตั้งฉนวนกันความร้อนก็สามารถช่วยลดความร้อน และช่วยระบายความร้อนในผนังได้ดีขึ้นครับ
ด้านการรั่วซึม
การรั่วซึมของผนังทั้ง 2 ประเภท จะมีข้อแตกต่างกัน คือ การรั่วซึมในผนัง Precast มักพบในกรณีที่น้ำจากภายนอกรั่วซึมผ่านรอยต่อระหว่างผนัง เนื่องมาจากข้อบอกพร่องในการติดตั้ง ส่วนการรั่วซึมในผนังอิฐแดงฉาบปูน จะมาจากการที่ผนังเกิดรอยร้าว ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การฉาบปูนที่ไม่ได้คุณภาพ การก่อสร้างที่เร็วเกินไป เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง
ด้านการทุบ ตอก เจาะ และการต่อเติม
เนื่องจากผนัง Precast ใช้ตัวของผนังเองเป็นโครงสร้างของบ้าน การจะทุบ ตอก เตาะ หรือต่อเติมนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะทุกส่วนเชื่อมต่อกัน ทุบแค่จุดเดียว ก็เหมือนทุบทิ้งทั้งบ้าน ต้องอาศัยช่างมีฝีมือและชำนาญ หรือวิศวกร อีกทั้งในตัวผนังนั้นมีเหล็กเสริมอยู่เป็นจำนวนมาก การตอก เจาะผนังจึงทำได้ยากเช่นกัน เพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า เมื่อเจาะลงไปนั้น จะไปเจอเข้ากับเหล็กหรือไม่
ส่วนผนังอิฐแดงฉาบปูน มีเสา และคานเป็นตัวเชื่อม การทุบ ตอก เจาะ ผนัง หรือต่อเติมจึงทำได้ง่าย ไม่กระทบกับจุดอื่น ๆ เหมือนกับผนังคอนกรีตสำเร็จรูปครับ
ด้านความสวยงาม และการตกแต่ง
แน่นอนครับว่าผนัง Precast นั้น ก็จะมีสีเทา ๆ ขาว ๆ แบบคอนกรีต เพียงอย่างเดียว การจะแต่งเติมอะไรลงบนผนังคงทำได้แค่ทาสี หรือการติดทับด้วยวอลเปเปอร์ แต่สำหรับผนังอิฐแดงแล้ว ด้วยสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณสามารถทำให้ผนังบ้านของคุณ เป็นผนังอิฐก่อโชว์แนวคลาสสิก เท่ ๆ ได้หลากหลายสไตล์ และถ้าหากกลัวเรื่องสิ่งสกปรก หรือความชื้นที่จะมาเกาะบนผิวของอิฐแดง พี่อิฐแนะนำให้คุณทาผนังอิฐแดงก่อด้วยน้ำยาเคลือบผนัง ฆ่าเชื้อรา กันตะไคร่น้ำ เท่านี้ก็ไม่มีสิ่งสกปรกมากวนใจคุณแล้วล่ะครับ
ตารางสรุปการเปรียบระหว่าง ผนัง Precast VS ผนังอิฐแดง ฉาบปูน |
||
หัวข้อ | ผนัง Precast | ผนังอิฐแดงฉาบปูน |
1. ด้านการก่อสร้าง | ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว 1 วัน อาจได้ผนังบ้าน 1 ชั้น | ก่อสร้างได้ช้ากว่า ขึ้นอยู่กับ ขนาดของอิฐแดง และฝีมือของ ช่าง 1 วัน ก่อได้ 10 ตารางเมตร |
2. ค่าใช้จ่ายในการ ก่อสร้าง | วัสดุราคาสูง ใช้แรงงานน้อย | วัสดุราคาถูก ใช้แรงงานเยอะกว่า |
3. ด้านคุณภาพความ แข็งแรง ทนทาน | แข็งแรงกว่า ด้วยด้านในมีการ เสริมเหล็กเป็นจํานวนมาก | มีความแข็งแกร่ง ทนทานมาก หลักฐานจากโบราณสถานที่คงอยู่ |
4. ด้านการกันเสียง | กันเสียงได้มาก เพราะผนังมีความหนาแน่นสูง | กันเสียงได้ปานกลาง เนื่องจากมีรูระบายอยู่ภายใน |
5. ด้านการอมความร้อน | อมความร้อนสูง เพราะผนังมีความหนาแน่น และมีเหล็กเส้นจํานวนมาก | ค่อนข้างอมความร้อน แต่มีรูระบาย ช่วยระบายออก |
6. ด้านการรั่วซึม | รั่วซึมได้จากรอยต่อของผนัง | รั่วซึมได้จากรอยร้าวของผนัง |
7. ด้านการทุบ ตอก เจาะ และการต่อเติม | ทําได้ยาก ทุบจุดเดียว อาจร้าวทั้งบ้าน | ทําได้ง่าย ไม่มีปัญหารอยร้าว กระทบกับจุดอื่น |
8. ด้านความสวยงาม และการตกแต่ง | ตกแต่งได้น้อย ทําได้แค่ทาสีผนัง หรือติดวอลเปเปอร์ | ตกแต่งได้หลากหลายสไตล์ ตามความต้องการ |
เป็นอย่างไรกันบ้างครับข้อมูลที่พี่อิฐนำมาฝากทุกคนในบทความนี้ พี่อิฐหวังว่าจะพอช่วยให้ทุกคนตัดสินใจเลือกวัสดุที่จะนำมาสร้างบ้านของคุณได้นะครับ และการก่อสร้างทุกครั้งควรออกแบบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวิศกร เพราะบ้านเป็นสถานที่ของครอบครัว ที่ต้องอยู่กับเราไปอีกนาน
ขอขอบคุณที่มา : scgbuildingmaterials.com
และ รายการช่างประจำบ้าน EP.130