“อิฐโบราณ”หรือ “อิฐมอญโบราณ” วัสดุดั้งเดิมในการก่อสร้างตั้งแต่สมัยอดีต แต่ในปัจจุบันอิฐโบราณถูกนำมาใช้ก่อตกแต่งผนังห้องให้มีสไตล์ ตามโรงแรม ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ซึ่งอิฐโบราณได้ถูกแบ่งออกตามลักษณะการเผา 2 ประเภท นั่นก็คือ อิฐโบราณเผาแกลบ และ อิฐโบราณเผาฟืน นอกจากกระบวนการเผาที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีอะไรที่แตกต่างกันอีกบ้าง? บทความนี้มีคำตอบครับ
อิฐโบราณเผาแกลบ
ส่วนประกอบ
1. ดินเหนียวผสมดินร่วน
2. แกลบ
3. น้ำ
วิธีการการผลิต
หมักส่วนประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง – 1 วัน เมื่อหมักดินได้ที่แล้วจึงนำไปปั้นขึ้นรูปในแม่พิมพ์ และตากแดดให้ก้อนดินเหนียวแห้ง ประมาณ 7 วัน จากนั้นก็นำอิฐไปเผาประมาณ 7-15 วัน น้อยหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของอิฐ ในอุณหภูมิ 750 – 850 องศาเซลเซียส ซึ่งอิฐโบราณเผาแกลบ จะเผาในเตาแบบชั่วคราว ที่เผาแบบครั้งเดียวแล้วรื้อออก โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก อิฐโบราณเผาแกลบจะมีความหนาแน่นน้อยกว่าอิฐโบราณเผาฟืน เพราะมีส่วนผสมของแกลบ เมื่อนำไปเผา แกลบในตัวอิฐจะละลาย นอกจากนี้แกลบที่เป็นเชื้อเพลิงก็จะติดอยู่ตามหน้าอิฐด้วย จึงเป็นที่มาของความหยาบกระด้าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอิฐโบราณเผาแกลบ นิยมนำไปใช้ในงานก่อโชว์พื้นผิว และสี มากกว่าการนำไปก่อฉาบ ให้ความรู้สึกแบบดิบ เท่ กึ่งโบราณ เป็นธรรมชาติ ด้วยเทกเจอร์ที่ไม่เรียบ และสีที่ไม่สม่ำเสมอกัน
อิฐโบราณเผาฟืน
ส่วนประกอบ
1.ดินเหนียวแก่ หรือดินเหนียวปนทราย
2. น้ำ
วิธีการผลิต
วัตถุดิบหลักในการผลิตคือดินเหนียวแก่ หรือดินเหนียวปนทรายที่ไม่มากเกินไปเพราะจะทำให้อิฐเปราะ ไม่แข็งแรง หลังจากนั้นนำดินเหนียวที่หมักไว้มาอัดขึ้นรูปตามบล็อก หรืออัดในเครื่องพิมพ์ แล้วนำอิฐไปตากแห้งในร่ม ไม่เหมือนกับอิฐโบราณเผาแกลบที่ต้องตากกลางแจ้ง เพราะเนื้ออิฐจะแตก เมื่อก้อนดินเหนียวแห้งดีจึงนำไปเผาในเตาแบบถาวร ประมาณ 10-15 วัน ในอุณหภูมิ 900-1000 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง และมีการเติมให้อุณหภูมิคงที่อย่างสม่ำเสมอ อิฐโบราณเผาฟืนที่ได้จะมีสีส้มเข้ม เนื้อเรียบ หนาแน่น และแข็งแกร่งกว่าอิฐโบราณเผาแกลบ ซึ่งนิยมนำไปก่อโชว์เช่นกัน แต่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับอิฐโบราณเผาแกลบ เพราะพื้นผิวที่เรียบกว่า และสีค่อนข้างสม่ำเสมอ
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างอิฐโบราณเผาแกลบ VS อิฐโบราณเผาฟืน |
||
หัวข้อ | อิฐโบราณเผาแกลบ | อิฐโบราณเผาฟืน |
1. วัตถุดิบ | ผลิตจากดินเหนียว ผสมดินร่วน แกลบ และน้ำ | ผลิตจากดินเหนียวแก่ หรือดินเหนียวปนทราย |
2. อุณหภูมิในการเผา | 750 – 850 °C | 900 – 1,000 °C |
3. ระยะเวลาในการเผา | 7 – 15 วัน | 10 – 15 วัน |
4. ลักษณะ | ผิวหยาบ สีไม่สม่ำเสมอ | ผิวค่อนข้างเรียบกว่าอิฐโบราณเผาแกลบ |
5. ความแข็งแกร่ง และความหนาแน่น | มีความหนาแน่นน้อย เนื่องจากผสมแกลบ ทําให้แข็งแกร่งน้อยกว่าอิฐโบราณเผาฟืน | มีความหนาแน่น และแข็งแกร่งมากกว่าอิฐโบราณเผาแกลบ |
6. การใช้งาน | นิยมใช้ในงานก่อโชว์ให้ความรู้สึก ดิบ เท่ เป็นธรรมชาติ ด้วยผิวสัมผัสที่หยาบ และสีที่ไม่สม่ำเสมอ | นิยมใช้ในงานก่อโชว์ได้หลากหลายสไตล์ และงานที่เน้นความแข็งแกร่ง |
สรุปแล้ว ความแตกต่างของอิฐโบราณทั้ง 2 ประเภท ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือผิวสัมผัส แต่เรื่องความแข็งแกร่งนั้น ถึงแม้ว่าอิฐโบราณเผาฟืนจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าแต่ไม่แตกต่างกันมากนักการเลือกใช้งานก็อยู่ที่ความชอบ และความต้องการของแต่ละคนเลยครับ จะผิวหยาบ หรือ ผิวเรียบ ก็มีความสวยที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเภทครับ