Search
ตามรอยอิฐแดงโบราณ ที่วัดมหาธาตุ กับการก่อสร้างของสถาปนิกสมัยอยุธยา

ตามรอยอิฐแดงโบราณ ที่วัดมหาธาตุ กับการก่อสร้างของสถาปนิกสมัยอยุธยา

        หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.พระนครศรีอยุธยา หลายคนก็คงจะนึกถึงโบราณสถานกันใช่มั้ยล่ะครับ? ซึ่ง ‘วัดมหาธาตุ’ ก็เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ต้องการแวะเวียนกันเจ้ามาชมเศียรพระพุทธรูปหินทรายในรากโพธิ์สุดโด่งดัง แต่วันนี้พี่อิฐจะพาทุกคนไปชมกับสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือการก่อสร้าง และการเลือกใช้วัสดุพื้นฐานอย่างอิฐแดงโบราณ ของสถาปนิกในสมัยอยุธยา บนความงดงามที่ยังหลงเหลืออยู่ จะเป็นอย่างไรนั้น ไปชมพร้อม ๆ กันเลยครับ

อิฐแดงโบราณ
อิฐแดงโบราณ วัดมหาธาตุ อยุธยา (11)

          วัดมหาธาตุ โบราณสถานเก่าแก่กลางเมืองอยุธยา อายุกว่า 600 ปี ก่อสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือช่วงปี พ.ศ. 1917 – 1931 ภายในประกอบไปด้วยวิหารหลวง พระปรางค์ประธานขนาดใหญ่ พระปรางค์รายขนาดกลาง อุโบสถ ตำหนักพระสังฆราช เจดีย์ 8 องค์ วิหารเล็ก และสถาปัตกรรมอื่น ๆ ที่แฝงไปด้วยการออกแบบของคนในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากขอมละโว้ มีจุดเด่นที่ความใหญ่โตของทั้งวิหารด้านหน้า และพระปรางค์ประธาน ที่สามารถพูดได้ว่า วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สมบูรณ์แบบ และงดงามมากในสมัยนั้น แต่น่าเสียดายที่พระปรางค์ประธานซึ่งเดิมทีสร้างจากศิลาแลงได้ถล่มลงมาเหลือเพียงฐานในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

อิฐแดงโบราณ

แบบสันนิษฐานผังวัดมหาธาตุ
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
credit : https://youtu.be/_fqapqEdQoM

อิฐแดงโบราณ

        การเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาก่อในยุคนั้น นิยมใช้อิฐแดง อิฐดินเผา ขนาดโดยประมาณ 5x15x30 ซม. และ 5x20x20 ซม. เนื่องจากเป็นขนาดที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และสามารถผลิตได้ในพื้นที่ครั้งละจำนวนมาก ๆ จะมีเพียงเจดีย์ และปรางค์บางองค์เท่านั้นที่ก่อรากฐานด้วยศิลาแลง ซึ่งต้องขนย้ายมาจากพื้นที่ห่างไกล ใช้เวลานาน และยุ่งยาก อิฐแดงจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด 

เกร็ดความรู้ : อิฐแดงที่ใช้ในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่ามีความคล้ายคลึงกับอิฐแดงโบราณ เผาฟืน ในปัจจุบัน เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีแกลบข้าว เพราะไม่มีโรงสีขาว อิฐแดงจึงผลิตจากดินเหนียวล้วนทั้งหมด

        ปัจจุบัน หากต้องการซ่อมแซมโบราณสถานที่สึกหรอ ส่วนใหญ่มักเลือกใช้อิฐแดงโบราณ เผาแกลบ เนื่องจากมีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างขรุขระ ไม่เรียบเนียน ซึ่งดูกลมกลืนกับโบราณสถานเก่า

ตัวอย่างรูปทรง และขนาดของอิฐแดงโบราณ เผาฟืน ในปัจุบัน ที่พัฒนามาจากอิฐแดงโบราณในอดีต

        วิธีการก่ออิฐแดงในวัดมหาธาตุ ส่วนใหญ่จะก่ออิฐไม่สอปูน คือการใช้ดินเหนียวผสมน้ำอ้อยเป็นตัวประสานให้อิฐติดกัน แทนการใช้ปูนขาว และจะก่อให้มีความหนาซ้อนกันหลายชั้น โดยเฉพาะในส่วนที่ทำหน้าที่เหมือนกับเสา เพื่อให้ทั้งผนัง ทั้งโครงสร้างมีความแข็งแกร่ง มั่นคง แทรกด้วยการก่อแบบย่อมุม และช่องเปิด หรือช่องว่างรูปทรงต่าง ๆ ให้เกิดความงดงาม

เกร็ดความรู้ : สอปูน หรือปูนสอ คือ ปูนขาวที่ผสมกับทราย น้ำกาวที่ทำจากหนังสัตว์ หรือน้ำอ้อย ใช้ประสานก้อนอิฐเข้าด้วยกัน หรือใช้ในการฉาบ

อิฐแดงโบราณ วัดมหาธาตุ อยุธยา (1)
แพทเทิร์นก่ออิฐ วัดมหาธาตุ
แพทเทิร์นก่ออิฐ วัดมหาธาตุ

        รูปแบบการก่ออิฐแดง (Pattern) ในวัดมหาธาตุ จะมีลักษณะเรียงแถวก่อตามแนวยาวของตัวอิฐ สลับกับการก่อโดยหันด้านหน้าตัดออกมา คล้ายกับการก่อรูปแบบ Flemish Bond และรูปแบบ Common Header Bond ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องสลับกี่ก้อน เป็นรูปแบบที่ไม่ตายตัว เพียงแค่เรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ เพื่อเน้นความหนาของชั้นผนัง และความแข็งแกร่ง

บทความที่เกี่ยวข้อง | 7 แพทเทิร์นก่อผนังอิฐ เพิ่มลูกเล่นและความแตกต่างให้ผนัง

        ผนังของวิหารหลวงที่ยังหลงเหลืออยู่ ภายนอกมีการก่ออิฐแดงแบบย่อมุมให้เกิดลวดลายสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมของไทย และเจาะเป็นช่องแคบ ๆ คล้ายลูกกรงเรียกว่า “ลูกฟัก” เพื่อให้มีทางระบายลม และแสงแดดส่องผ่านเข้าไปได้ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้แสงส่องเข้ามาทางด้านหน้า เพื่อฉายลงยังพระประธาน ให้ดูงดงาม ผุดผ่อง

        ช่องเปิด และช่องว่าง บนผนัง กำแพง ที่เกิดจากการก่ออิฐแดงให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และวิวัฒนาการด้านสถาปัตกรรมของผู้คนในสมัยนั้น

อิฐแดงโบราณ วัดมหาธาตุ อยุธยา (17)

        นอกจากการก่อสร้างที่น่าสนใจ ที่วัดมหาธาตุยังมีประติมากรรมที่งดงามอีกมากมาย อย่างพระพุทธรูปหินทรายมากกกว่า 20 องค์ ที่เรียงรายหันหน้าเข้าหาพระปรางค์ประธาน และมีพระพุทธรูปองค์ ใหญ่ด้านหน้า ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ให้ได้เห็นถึงฝีมือของช่างในสมัยอยุธยา

พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธาน

พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธาน

เศียรพระพุทธรูป 100 ปี ในรากต้นโพธ์บริเวณใกล้ ๆ กับวิหารเล็ก ซึ่งคาดว่าเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 จนรากไม้ขึ้นปกคลุม ทำให้มีความงดงามแปลกตา กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ และทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียง

        เศียรพระพุทธรูป 100 ปี ในรากต้นโพธ์บริเวณใกล้ ๆ กับวิหารเล็ก ซึ่งคาดว่าเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 จนรากไม้ขึ้นปกคลุม ทำให้มีความงดงามแปลกตา กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ และทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียง

        เป็นอย่างไรกันบ้างครับ นอกจากจะได้ชมความงดงามของของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา แล้วยังได้ความรู้ แถมยังได้เห็นว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร สิ่งก่อสร้างบางอย่างก็ยังคงความงดงามสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการก่อสร้าง การออกแบบ และคุณสมบัติของวัสดุอย่างอิฐแดง ซึ่งใครที่อยากมาสัมผัสความสวยงามของวัดมหาธาตุ สามารถเดินทางมาได้เลย เพราะเขาเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. นะครับ

สถานที่ วัดมหาธาตุ ถ.นเรศวร ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
พิกัด https://is.gd/A5YL4B

เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. 
ค่าเข้าชม ชาวไทย10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท 
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.- 21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก
– รายงานแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมของพุทธเจดีย์ในเขตจังหวัดพนครศรีอยุธยา : สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์
– ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
– Chanel Youtube : เสียงสะท้อนอดีต
Chanel Youtube : FaithThaiStory
– บันทึกจดหมายเหตุ ทูตลังกา

Share this post