Search
วิธีรับมือกับปัญหาผนังชื้น ในหน้าฝน

วิธีรับมือกับปัญหาผนังชื้น ในหน้าฝน

          ช่วงนี้ฝนเริ่มตกบ่อย เป็นสัญญานว่าเรากำลังเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งนอกจากจะมาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำ เย็นสบาย แต่ฝนยังพาปัญหาหลาย ๆ อย่างมาด้วย โดยเฉพาะเรื่องของความชื้น ที่อาจทำให้ผนังชื้น เราจึงไม่ควรละเลยการดูแลรักษาบ้านให้คงสภาพที่ดีอยู่เสมอ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ในบทความนี้พี่อิฐจึงจะพาไปดูวิธีป้องกันความชื้นบนผนัง เพื่อเตรียมความพร้อมรับหน้าฝนในปีนี้กันครับ

 

  • สาเหตุของการเกิดความชื้นบนผนัง
  • ปัญหาที่เกิดจากความชื้นของผนัง
  • วิธีป้องกัน และแก้ไขผนังชื้นในช่วงหน้าฝน

 

สาเหตุของการเกิดความชื้นบนผนัง

          แน่นอนว่าในบทความนี้เราพูดกันถึงเรื่องของหน้าฝน เพราะฉะนั้นน้ำฝนจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผนังชื้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าผนังบ้านของเราจะชื้นเพียงเพราะมีน้ำสาดกระทบ หรือสาดเข้ามาในตัวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่การจะเกิดปัญหาผนังชื้นนั้นย่อมมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย นั้นเราไปดูกันดีกว่าว่า สาเหตุใดบ้างที่จะทำให้บ้านของเราเกิดอาการผนังชื้น

 

ผนังชื้นจากรอยร้าว
รอยร้าวบริเวรวงกบประตู หน้าต่าง

1. การแตกร้าวของผนัง
          ปัญหารอยแตกร้าวของผนังตรงช่วงวงกบประตู หรือหน้าต่าง อาจทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาด้านในตัวบ้าน และดูดซับน้ำไว้ ทำให้เกิดความชื้นในผนังได้

 

ท่อน้ำรั่ว
ความชื้นจากรอยรั่วของท่อน้ำ

2. ท่อน้ำรั่ว
          ท่อน้ำที่เดินไว้ภายในบ้านเกิดการรั่ว มีน้ำซึมอยู่ตลอดเวลา ผนังจึงดูดซับน้ำจากการรั่วซึมของท่อ และทำให้ผนังเกิดความชื้น

 

ฝ้าเพดานชื้น
รอยชื้นบนฝ้าเพดาน จากการชำรุดเสียหายของหลังคา

 3. หลังคา ฝ้าเพดานชำรุด
          การชำรุดเสียหายของหลังคาบ้าน หรือฝ้าเพดานเกิดรอยรั่ว ทำให้น้ำจากน้ำฝน หรือละอองน้ำค้างผ่านเข้ามาในตัวบ้าน ก็ทำให้เกิดความชื้นบนผนังได้เช่นกัน 

 

ผนังพอง
สีหลุดลอก เกิดจากการที่ผนังพองตัว

4. ผนังพอง สีหลุดลอก
          สี หรือน้ำยาเคลือบผนัง ที่ทาไว้ภายนอกเกิดปัญหาหลุดลอก พองตัว เสื่อมสมรรถภาพ เมื่อมีฝนตกลงมา หรือมีสภาพอากาศชื้นจากภายนอก ผนังจึงเกิดความชื้น

 

ผนังขึ้นรา
ความชื้นจากใต้ดิน ซึมขึ้นมาในผนัง

 5. ความชื้นจากพื้นดินใต้บ้าน
          เนื่องจากเวลาที่ฝนตก น้ำฝนจะซึมลงไปกับดิน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ต่ำกว่าถนน หรือบ้านใกล้เคียง จะมีความชื้นในดินมากเป็นพิเศษ และความชื้นนี้มักจะแทรกซึมขึ้นมาในโครงสร้างบ้าน ทำให้เกิดการชื้นของผนัง

 

ปัญหาที่เกิดจากความชื้นของผนัง

  1. เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และทำให้ผนังมีจุดด่างดำ ดูสกปรก ไม่สวยงาม 
  2. นอกจากปัญหาผนังบ้านพองจะทำให้เกิดการสะสมความชื้นในผนังแล้ว ความชื้นในผนังก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผนังพองด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมโดยรอบ และการสะสมความชื้นในผนัง ซึ่งจะทำให้สีหลุดลอก ผนังบ้านดูไม่สวยงาม
  3. เกิดตะไคร่น้ำบนผนัง เป็นคราบสีเข้ม ทำให้ผนังสกปรก ไม่น่ามอง 
  4. เกิดกลิ่นเหม็นอับ รบกวนการอยู่อาศัย
  5. โครงสร้างเหล็กภายใน เช่น เสาเอ็น คานทับหลังอาจเกิดการผุกร่อน เป็นสนิม ซึ่งจะส่งผลต่อความแข็งแรงของผนัง และตัวบ้าน

 

วิธีป้องกัน และแก้ไขผนังชื้นในช่วงหน้าฝน

1. ผนังชื้นจากละอองฝนที่สาดเข้ามา
          ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความเสียหายของวัสดุใด วัสดุหนึ่ง วิธีแก้ไขที่สามารถทำได้ คือ เปิดประตู หน้าต่าง รับลม และแสงแดดเข้ามา เพื่อช่วยระบายอากาศ และความชื้น หรืออาจใช้พัดลม และอุปกรณ์ระบายอากาศอื่น ๆ เป็นตัวช่วย

          หรือปูกระเบื้องผนังภายนอก อีกหนึ่งตัวเลือก เพื่อลดการสัมผัสกับละอองฝนโดยตรง แถมยังได้ผนังใหม่ที่เปลี่ยนไปอีกแบบ เพียงน้ำกระเบื้องมากรุลงบนผนัง แล้วทาเคลือบกระเบื้องด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำ เท่านี้ก็ได้ผนังใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมแล้วครับ

ผนังชื้น

พี่อิฐขอแนะนำ : กระเบื้องดินเผาแปะผนัง ที่มีให้เลือกหลากหลายขนาด สีสันสวยงาม คุณภาพดี จากการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อผนังบ้านที่จะอยู่กับคุณไปได้อีกนาน

 

2. ผนังชื้นจากรอยรั่วของหลังคา และฝ้าเพดาน
          ตรวจเช็ครอยแยก รอยต่อ และการชำรุดเสียหายของกระเบื้องหลังคา และผ้าเพดาน ว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ ซึ่งจะสังเกตุได้จากรอยคราบน้ำบนฝ้าเพดาน หากพบปัญหาดังกล่าวควรรีบซ่อมแซม แก้ไขให้ตรงจุด เพราะไม่ใช่แค่จะทำให้เกิดความชื้นในผนัง แต่อาจจะทำให้สิ่งของในบ้านของคุณเสียหายจากน้ำที่รั่วลงมา

ผนังชื้น

 

3. ผนังชื้นจากรอยแตกร้าว
          ทำการซ่อมแซมรอยแตกร้าว ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เริ่มจากเช็คว่ารอยแตกร้าวมีขนาดใหญ่แค่ไหน หากไม่ใหญ่มาก พี่อิฐแนะนำให้เลือกวัสดุที่ยืดหยุ่นได้มาใช้ในการอุดรอยร้าว เช่น ซิลิโคน โดยใช้ปืนอัดฉีด ฉีดวัสดุอุดรอยร้าวเข้าไปให้เต็ม ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท แล้วใช้กระดาษทรายขัดตกตกแต่งซิลิโคนส่วนเกิน จากนั้นทาสีทับเพื่อปกปิดรอยการซ่อมแซม ก็เป็นอันเสร็จ

          แต่ถ้าหากบริเวรรอยแตกร้าวมีขนาดค่อนข้างกว้าง ต้องทำการสะกัดปูนให้รอยแตกเป็นร่องที่มีความเรียบร้อย ฉาบทับด้วยปูนซีเมนต์พิเศษ ที่ไม่มีความยืดหดตัว ใช้เกรียงปาดปูนให้เรียบเนียนไปกับผนังเดิม รอปูนฉาบแห้ง แล้วทาสีทับเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ผนังชื้น

 

 

4. ผนังชื้นจากหลุดลอกของสีบนผนัง
          หากเป็นผนังภายนอก สามารถซ่อมแซมได้โดยใช้เกรียงขูดลอกสีเดิมออก ขัดล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ทาน้ำยาเคลือบผนัง ฆ่าเชื้อรากันตะไคร่น้ำ และน้ำยากันซึม รอให้แห้งประมาณ 2- 3 ชั่วโมง ก่อนจะทาสีใหม่ทับ

          ส่วนผนังภายใน การซ่อมแซมนั้นคล้ายกับผนังภายนอกเลย เพียงแต่หลังจากขูดลอก ทำความสะอาดผนังเดิมเรียบร้อยแล้ว ควรปล่อยให้ผนังคายความชื้นประมาณ 1 วัน จากนั้นทาน้ำยาเคลือบผนัง กันซึม (ปกป้องผนังอิฐ จากเชื้อรา และตะไคร่น้ำ ด้วยน้ำยาเคลือบผนัง) แล้วทาสีใหม่ทับ

ผนังชื้น

 

5. ผนังชื้นจากน้ำที่อยู่ใต้ดิน
          ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ โดยการกรีดผนังด้านล่างให้เป็นร่องลึกประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อสะกัดไม่ให้น้ำซึมลอยขึ้นไปตามพื้นผิวได้ง่ายเกินไป หรือสะกัดปูนฉาบให้ผิวขรุขระ เพื่อให้ความชื้นระเหยออกจากผิวตรงส่วนนั้นแทน นอกจากนี้ยังมีวิธีการลดปริมาณน้ำในดินบริเวณใต้พื้นบ้าน ด้วยการติดตั้งรางระบายน้ำใต้ดินอีกด้วย

ผนังชื้น

 

สรุป

          ปัญหาผนังชื้นในหน้าฝน อาจดูเป็นปัญหาที่เล็กน้อย แต่ก็ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด คุณจึงควรเช็คสภาพบ้านของคุณบ่อย ๆ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อหาจุดเสียหาย จะได้ทำการซ่อมแซมแก้ไขได้ทันก่อนที่ฤดูฝนจะมา เพราะไม่อย่างนั้นปัญหาเล็ก ๆ อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้แบบไม่รู้ตัว

 

 

 

ที่มา : scgbuildingmaterials.com
และ pantip.com

 

Share this post