Search
9 กฏเหล็กที่ควรรู้ ก่อนจ้างผู้รับเหมา ฉบับเจ้าของบ้าน

9 กฏเหล็กที่ควรรู้ ก่อนจ้างผู้รับเหมา ฉบับเจ้าของบ้าน

       ผู้รับเหมาที่ดี ดูกันที่ตรงไหน? ซึ่งครั้งก่อนพี่อิฐได้แชร์ “กฏ 9 ข้อ ที่ผู้รับเหมาควรรู้! ก่อนรับงาน” ไปแล้ว คราวนี้ถึงตาเจ้าของบ้าน หรือผู้ว่าจ้างบ้าง กับ “9 กฏเหล็กที่ควรรู้ ก่อนจ้างผู้รับเหมา” มาดูกันดีกว่าว่าการจ้างผู้รับเหมาสักรายควรจะเช็กอะไรบ้าง เพื่อให้ได้งานที่ดี มีคุณภาพ และไม่ต้องคอยตามแก้ปัญหาทีหลังให้ปวดหัว และเปลืองเงินในกระเป๋า

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 1

 

1. เช็กประวัติ ผลงาน และความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา 

       สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสิ่งแรก และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณต้องรู้ก่อนว่า ผู้รับเหมาที่จะมาทำให้งานให้กับคุณนั้นเป็นใคร มาจากไหน เชื่อถือได้หรือไม่ และผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งพี่อิฐอยากแนะนำให้คุณเลือกผู้รับเหมาที่เป็นบริษัท หรือนิติบุคคคล มากกว่าบุคคลธรรมดา เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจในฝีมือของทีมงานได้ในระดับหนึ่ง และยังสามารถตรวจเช็กความน่าเชื่อถือ และผลงานที่ผ่านมาว่าถนัดงานแบบไหน ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้างได้จากอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบริษัทที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง หรือมีที่ตั้งสำนักงานเป็นหลักแหล่ง ก็จะช่วยเป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือได้ 

 

       ทั้งนี้พี่อิฐไม่ได้หมายความว่าผู้รับเหมาที่เป็นบุคคลธรรมดาจะไม่น่าเชื่อถือ หรือทำงานไม่ดีนะครับ เพียงแต่ผู้รับเหมาที่เป็นบุคคลธรรมดานั้นตรวจสอบได้ยากกว่า แต่หากเป็นคนรู้จัก อยู่ในพื้นที่ หรือได้รับการแนะนำปากต่อปากเป็นเครื่องการันตีว่าทำงานดี มีคุณภาพ และไม่ทิ้งงานจริง คุณก็สามารถเลือกจ้างได้เช่นกัน 

 

| บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 2

 

2. เลือกผู้รับเหมาที่เสนอราคาจ้างเหมาะสมกับงาน

       แน่นอนว่า “ราคา” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนส่วนมากนำมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะใช้ในการเลือกซื้อสินค้า หรือเลือกใช้บริการ การว่าจ้างผู้รับเหมาในการก่อสร้างก็เช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจอยากเลือกผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำที่สุด แต่พี่อิฐอยากจะบอกว่า งานราคาต่ำอาจทำให้งานที่ออกมาไม่ดี และไม่มีคุณภาพ หรืองานราคาสูงก็ไม่ได้แปลว่างานจะออกมาดีเสมอไป เพราะงานที่ดีจะต้องมากับราคาที่เหมาะสม ไม่ต่ำไป หรือสูงไป

 

       ซึ่งราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ รมถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ความยากง่ายของงานด้วย หากผู้รับเหมาเสนอราคาที่ต่ำเกินไป ก็ให้คิดไว้เลยว่า ผู้รับเหมาจะเลือกใช้สินค้าคุณภาพต่ำแน่นอน ซึ่งอาจจะส่งผลไม่ดีให้กับสิ่งปลูกสร้างในระยะยาว และที่แย่กว่านั้นคือการที่ผู้รับเหมาทิ้งงานกลางคันเพราะทำงานขาดทุน

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 3

 

3. หาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ จะได้รู้เท่าทันผู้รับเหมา

       สิ่งปลูกสร้างที่ดี แข็งแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือในการทำงานของช่างก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งปลูกสร้างจะแข็งแกร่งหรือไม่นั้น คือ วัสดุที่นำมาใช้งาน เพราะฉะนั้นเจ้าของบ้าน หรือผู้ว่าจ้างเองก็ควรจะหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเช่นกัน ว่าวัสดุแบบไหนที่ดี มีคุณสมบัติที่เหมาะกับสิ่งปลูกสร้างของเรา รวมถึงเช็กราคา แหล่งที่มา และทำการเปรียบเทียบราคา คุณภาพจากหลาย ๆ แห่ง เพื่อเลือกวัสดุที่ดี เหมาะสมที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนสั่งซื้อ

 

       หากเจ้าของบ้าน หรือผู้ว่าจ้างไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัสดุเลย และปล่อยให้ผู้รับเหมาทำเองทั้งหมด บางทีคุณอาจเจอผู้รับเหมาหัวหมอ ไม่ซื่อสัตย์ ซื้อวัสดุคุณภาพต่ำมาใช้แทน ซึ่งส่งผลเสียให้กับสิ่งปลูกสร้างแน่ ๆ รวมถึงปัญหาการแจ้งราคาวัสดุที่สูงกว่าราคาซื้อจริงด้วย

 

| บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 4

 

4. ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ

       การสร้างบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างมีรายละเอียดมากมายที่ต้องตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้าง กับผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงในการเลือกใช้วัสดุ ข้อตกลงในการทำงาน หรือข้อกำหนดระยะเวลารับมอบงาน ซึ่งในหนังสือสัญญา จะต้องมีรายละเอียดดังนี้ 

  • วันที่ และสถานที่ทำสัญญา
  • ข้อมูลส่วนบุคคลคู่สัญญาทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมา
  • ขอบเขต และลักษณะของงานที่รับผิดชอบ
  • ราคา และรายละเอียดการจ่ายค่างวด
  • ระยะเวลาโดยประมาณในการดำเนินงาน
  • หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมา
  • รายการวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ดำเนินงาน
  • การประกันคุณภาพผลงานหลังจากการับส่งมอบงาน
  • การยกเลิกสัญญาว่าจ้างและสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มสัญญาว่าจ้าง คลิก
ที่มา สมาคมธุรกิรับสร้างบ้าน   

 

       จากรายละเอียดในด้านบน ต้องเห็นชอบทั้ง 2 ฝ่าย และต้องทำสัญญา ลงนามข้อตกลงให้ชัดเจนเสมอ เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมาเอง หากมีข้อผิดพลาดในอนาคต หรือมีจุดที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็สามารถอ้างตามหนังสือสัญญาที่ทำไว้ได้

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 5

 

5. ทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ BOQ

       BOQ หรือ Bill of Quantities คือ รายการแสดงปริมาณงาน และราคาวัสดุก่อสร้าง ว่าใช้วัสดุอะไร ปริมาณเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร และค่าแรงในการจัดการวัสดุนั้น ๆ มีราคาเท่าไร ซึ่งถอดมาจากแบบก่อสร้างอย่างละเอียด ทั้งแบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง และแบบวิศวกรรมงานระบบ เป็นตัวช่วยคัญสำหรับผู้ว่าจ้าง และผู้รับเหมา ในการหาราคาที่เหมาะสมก่อนการเซ็นสัญญาก่อสร้าง และตัวช่วยที่ทำให้ง่ายต่อการควบคุมงบประมาณในการก่อสร้าง แถมยังช่วยรวางแผนการซื้อ และจัดส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดการก่อสร้างอีกด้วย

 

       ค่าใช้จ่ายในบัญชี BOQ สามารถแบ่งได้ตามหมวดต่าง ๆ ดังนี้

  • หมวดการเตรียมงาน เช่น การถมดินใหม่ การรื้อถอนอาคารเก่า
  • หมวดงานโครงสร้าง เช่น งานคอนกรีต ไม้ หรือโครงเหล็ก
  • หมวดงานสถาปัตยกรรม การตกแต่งต่าง ๆ เช่น งานผนัง หลังคา พื้น งานทาสี
  • หมวดงานระบบ เช่น การเดินไฟฟ้า งานปะปา ท่อต่าง ๆ

ตัวอย่างใบแสดงบัญชี BOQ

ตัวอย่างใบแสดงบัญชี BOQ
เครดิต : บริษัท ปันแปลน จำกัด

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 6

 

6. ทำสัญญาสำหรับงานที่ล่าช้าเกินกำหนด กันงบบานปลาย

       งานที่เสร็จล่าช้ากว่ากำหนด ย่อมส่งผลเสียให้กับผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่อาจจะต้องจ่ายเพิ่มเพราะงานที่ยืดออกไป เช่น ค่าแรงรายวัน หรือการเปิดใช้งานสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างวางแผนไว้ต้องเลื่อนออกไป โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างจำพวกร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก แหล่งทำเงิน เพราะฉะนั้นผู้ว่าจ้างควรแก้ปัญหานี้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการทำสัญญาระบุข้อตกลงในกรณีงานล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งอาจคิดค่าปรับเป็นรายวัน หรือค่าแรงของทีมงานในส่วนของวันที่เกินมา ผู้รับเหมาต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเอง รวมไปถึงทำการเลิกจ้างได้โดยที่ผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินรับผิดชอบ

 

       ทั้งนี้ข้อตกลงต้องไปเป็นตามความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย จึงต้องทำสัญญากันไว้ก่อน เพื่อประมาณว่าการล่าช้านี้เกิดจากสาเหตุใด เป็นสาเหตุที่ยอมได้ เช่น สภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ หรือสาเหตุที่ยอมไม่ได้ เช่น ผู้รับเหมามาทำงานไม่ครบกำหนด

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 7

 

7. หมั่นเข้าไปตรวจเช็กงานอย่างสม่ำเสมอ

       หลังจากที่ได้ผู้รับเหมาที่ใช่ สามารถมั่นใจเรื่องฝีมือ คุณภาพ ไปจนถึงความน่าเชื่อถือแล้ว แต่ใช่ว่าเราจะปล่อยให้ผู้รับเหมาดำเนินงานกันเองไปจนถึงวันส่งมอบงานนะครับ ผู้ว่าจ้างเองก็ควรเข้าไปตรวจเช็กงานอยู่เสมอ เพราะอาจจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เช่น การไม่ติดตั้งเสาเอ็น คานทับหลังในผนง การฉาบผนังที่ไม่ได้ดิ่ง ซึ่งพอมาเจอทีหลัง ทีนี้ล่ะแก้ยาวเลย อาจถึงขั้นทุบผนังทำใหม่ ต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา การเข้าไปตรวจเช็กงานอยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

 

       รวมถึงจะได้มีโอกาสเข้าไปเช็กวัสดุ อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างด้วย ว่าเป็นไปตามสเป็คที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ป้องกันผู้รับเหมาหลอกลวง ไม่ซื้อวัสดุคุณภาพตามจริง

 

| บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 8

 

8. วางแผนการจ่ายค่างวด ป้องกันการทิ้งงานกลางคัน

       อีกหนึ่งปัญหาที่มักจะเจอในหมู่ผู้รับเหมา คือที่ผู้รับเหมาทิ้งงานกลางคัน ซึ่งอาจเกิดจากงานขาดทุน รับเงินไปแล้วนำไปหมุนใช้อย่างอื่นจนไม่พอซื้อวัสดุ หรือเชิดเงินหนีไป ผู้ว่าจ้างจึงควรวางแผนจ่ายค่างวดให้กับผู้รับเหมาอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป แต่ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของแต่ละงวด และทำการตกลงกันให้ชัดเจนในสัญญาว่าจ้างว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ จ่ายวันไหน ซึ่งผู้ว่าจ้างเองก็อย่าลืมจ่ายให้ตรงเวลาด้วยนะครับ

 

       และหากในอนาคตมีรายจ่ายที่เกินกว่าที่ตกลงไว้ ก็ต้องมีเอกสารที่สามารถแจกแจงได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในด้านใด ควรจ่ายตามเนื้องานว่าเสร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะการให้เงินก้อนกันก่อนล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ได้เริ่มงาน หรืองานไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ถือว่าเป็นความเสี่ยงเสมอ

 

       ข้อแนะนำ : ในกรณีที่โดนผู้รับเหมาโกง หอบเงินหนี ผู้ว่าจ้างสามารถนำหลักฐาน สัญญาว่าจ้างไปร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ฟ้องร้องต่อศาล หรือที่ง่ายที่สุดคือการนำสัญญาว่าจ้างไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อนได้เลย

 

กฏก่อนจ้างผู้รับเหมาข้อที่ 9

 

9. จ้างบริษัทรับตรวจบ้าน ก่อนรับงานจากผู้รับเหมา 

       การตรวจงาน ก่อนรับบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะหากรับบ้าน และจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว แต่มาเจอปัญหาทีหลังก็มีสิทธิที่ผู้รับเหมาจะหอบเงินหนีได้นะครับ เพราะฉะนั้นผู้ว่าจ้างคววรจะทำการตรวจรับบ้านให้ละเอียด ถี่ถ้วน ซึ่งบางทีเจ้าของบ้าน หรือผู้ว่าจ้างอาจจะไม่ได้มีความรู้ หรือเชี่ยวชาญ พี่อิฐจึงอยากแนะนำให้จ้างบริษัทรับตรวจบ้าน หรือจ้างวิศวะกรผู้มีความรู้เข้ามาช่วยดูตรงจุดนี้ 

 

       ขั้นตอนคือ เมื่อผู้ว่าจ้างหาบริษัทตรวจสอบรับบ้าน หรือวิศวกรที่ปรึกษามาได้แล้ว ก็แค่ส่งแบบบ้าน แบบสาธารณูปโภค แบบโครงสร้าง ระบบน้ำไฟให้ทางผู้ตรวจดูเบื้องต้นว่าบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้างของเราเป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็นัดไปตรวจรับบ้านพร้อมกันในวันที่นัดกับผู้รับเหมาได้เลย 

 

       ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับใครที่กำลังมองหาผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่นะครับ เพราะสิ่งสำคัญของการสร้างสิ่งปลูกสร้างก็คือ ฝีมือของคนที่ทำ อย่างผู้รับเหมา ผู้ว่าจ้างจึงควรเลือกผู้รับเหมาให้ดี โดยนำกฏเหล็ก และเช็กลิตส์ 9 ข้อ ที่พี่อิฐนำมาฝากลองไปปรับใช้เห็นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกผู้รับเหมาดู พี่อิฐเชื่อว่าคุณจะได้ผู้รับเหมาที่ดีมาร่วมงานอย่างแน่นอน

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง : สมาคมธุรกิรับสร้างบ้าน   

Share this post