รอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นบนผนังอิฐแดงฉาบปูน ไม่ว่าจะเป็นรอยเล็ก หรือรอยใหญ่ ก็ไม่ควรวางใจ เพราะล้วนส่งผลเสียให้กับบ้าน นอกจากผนังจะไม่สวยแล้ว ยังอาจเสียหายถึงขั้นทำให้บ้านพังได้ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า รอยร้าวแต่ละรอยเกิดจากสาเหตุอะไร และมีรอยร้าวใดบ้างที่เป็นอันตรายต้องรีบแก้ไข ก่อนที่คุณเองจะปวดร้าวเพราะบ้านพัง
1. รอยร้าวแนวทแยง
รอยร้าวนี้ถือว่าเป็นรอยร้าวที่อันตรายที่สุด เพราะอาจทำให้บ้านทรุดตัวได้ ซึ่งรอยร้าวนี้เกิดจากการที่เสาในจุดใดจุดหนึ่งทรุดตัวได้จากหลายสาเหตุ เช่น เสาเข็มหลุดออกจากรากฐาน ชั้นดินเคลื่อนตัวทำให้เสาเข็มเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม หรือการต่อเติมบ้านแบบผิดหลัก ผนังจึงเคลื่อนทรุดตัวตามเสา ทำให้เกิดรอยร้าวแนวเฉียงบนผนัง
การแก้ไขเบื้องต้น วัดขนาดของรอยร้าว ใช้ดินสอขีดไว้ และหมั่นเฝ้าระวัง หากรอยร้าวมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ต้องรีบปรึกษาวิศวกรด่วนเลยครับ ทางที่ดีพี่อิฐขอแนะนำให้รีบซ่อมแซมตั้งแต่ผนังเริ่มเกิดรอยร้าวเลยจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของบ้าน
2. รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง
รอยร้าวชนิดนี้เกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ การที่มีน้ำหนักกดทับบนคาน และคานได้รับน้ำหนักมากเกินไป หรือการถอดแบบคานเร็วกว่ากำหนด ทำให้คานเสียประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักโครงสร้าง คานจะแอ่นตังลงเป็นรูปตัว U และกดทับผนัง ทำให้ผนังเกิดรอยร้าว ถือว่าเข้าขั้นอันตราย
การแก้ไข ทำได้โดยเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากจากชั้นบนออกก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คานแอ่นตัวลงมาเพิ่ม จากนั้นปรึกษาวิศวกรเพื่อทำการซ่อมแซม ที่อาจถึงขั้นต้องสกัดผนังออก หรือทุบผนังก่อใหม่ ในบริเวณที่เกิดรอยร้าว
3.รอยร้าวตามมุมวงกบประตู-หน้าต่าง
รอยร้าวตรงจุดนี้เป็นรอยร้าวที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด เนื่องจากประตู และหน้าต่างต้องมีการเปิดปิดเป็นประจำ แรงกระแทกจึงอาจส่งผลให้เกิดรอยร้าวได้ นอกจากนี้อาจหมายถึงว่าผนังไม่ได้ติดตั้งเสาเอ็น คานทับบหลัง และตะแกรงกรงไก่ที่จะเป็นตัวช่วยในการจับยึด ให้ผนังมีความทนทานต่อการกระแทก มักมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาจากรอยร้าวตรงจุดนี้
การแก้ไข หากเป็นรอยร้าวเพียงเล็กน้อยอาจใช้ยาแนว ออะคริลิก ที่เป็นวัสดุยืดหดตัวได้มาอุด ทับรอยร้าว แต่ถ้าหากรอยร้าวมีขนาดใหญ่ ต้องสกัดรอยร้าวให้เรียบร้อย ฉาบปิดด้วยซีเมนต์สำเร็จรูป แล้วติดตั้งประตู-หน้าต่างใหม่ เพื่อความสวยงามอาจทาสีทับเป็นการเก็บงานในขั้นตอนสุดท้าย
4. รอยร้าวบนเสา
เกิดได้ทั้งจากการที่โครงสร้างรับน้ำหนักมากเกินไป การทรุดตัวของรากฐาน เหล็กข้างในเสาเป็นสนิม หรือเสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง รอยร้าวชนิดนี้แสดงถึงความไม่มั่นคงของเสา และฐานราก จึงเป็นอีกหนึ่งรอยร้าวที่อาจจะทำให้บ้านถล่มได้
การแก้ไขเบื้องต้น ควรย้ายของที่อยู่ในห้องที่เกิดรอยร้าวออกก่อน กันการทรุดตัวของโครงสร้าง และรีบปรึกษาวิศวกรเพื่อทำการซ่อมแซมโดยด่วน เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้าง จึงจำเป็นที่จะต้องปรึกษาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
5. รอยร้าวบนคานใกล้เสา
รอยร้าวตรงจุดนี้อันตรายมาก โดยมีลักษณะเป็นรอยเฉียงบริเวณปลายคานที่เชื่อมต่อกับเสาทั้งสองด้าน เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ว่าโครงสร้างของอาคารไม่สามารถรับน้ำหนักได้ไหว และกำลังจะแตกแยกตัวออกจากกัน หากไม่รีบทำการซ่อมแซม แก้ไข
การแก้ไข จำเป็นที่จะต้องปรึกษาวิศวกรโดยเร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างโดยตรง หากยังนิ่งนอนใจ เสาและคานอาจแตกออกจากกัน จนทำให้บ้านเกิดการถล่มในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีรอยร้าวอีกหลายลักษณะทั้งที่เป็นอันตราย และไม่อันตราย ซึ่งต้องคอยสังเกตุเป็นระยะ ทั้งนี้หากเกิดร้อยร้าวไม่ว่าจะเป็นตามที่อิฐแนะนำหรือไม่ ก็ต้องรับหาทางซ่อมแซมแก้ไข และอย่าลืมปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญอย่างวิศวกร เพื่อความปลอดภัยของบ้านด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.scgbuildingmaterials.com/
และ https://dsignsomething.com/