อิฐแดง อิฐมอญ คืออะไร?
ประวัติความเป็นมาของ อิฐแดง อิฐมอญ
“อิฐแดง” หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “อิฐมอญ” มีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีฝีมือในการทำอิฐมอญมาอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาตั้งรกรากใหม่ จึงต้องทำการสร้างบ้านเรือน ชาวมอญจึงใช้ฝีมือที่มีตั้งแต่เดิม ทำอิฐมอญสร้างที่อยู่อาศัยให้กับตนเอง ต่อมาจึงยึดเป็นอาชีพทำอิฐมอญขายในที่สุด
จากการที่ชาวมอญมีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผา และผูกขาดการทำอิฐมาแต่ต้น ทำให้คนไทยเรียกลักษณะของอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีส้มสดชนิดนี้ว่า “อิฐมอญ” ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างมาแต่ครั้งอดีต สังเกตได้จากโบราณสถานที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ และยังคงความสำคัญนับจากอดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีบทบาทเด่นในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ
ชุมชนชาวมอญในประเทศไทยที่ประกอบอาชีพการทำอิฐมอญมีหลายแห่ง มีแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตอิฐที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และอีกหลายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมดินที่นำมาทำอิฐมอญเป็นดินจากแม่น้ำ มีเนื้อละเอียดปนทราย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษคือ ไม่เหนียวมากเกินไป แต่ปัจจุบันดินแม่น้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงหันมาใช้ดินจากพื้นที่ลุ่ม มีคุณสมบัติเหมือนดินแม่น้ำ กล่าวคือเป็นดินสองชั้น ชั้นบนเป็นดิน เหนียวปนทรายมาก ส่วนชั้นล่างเป็นดินเหนียวล้วน ๆ เมื่อขุดมารวมกัน ก็จะได้ดินเหนียวปนทรายเนื้อดี นอกจากดินแล้ว ยังประกอบด้วยแกลบ และขี้เถ้า เป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่อนจะผสมให้เข้ากัน ตากแห้ง และเข้าเตาเผา อิฐที่ดีจะมีสีส้มสดทั่วทั้งก้อน แกร่ง มีคุณภาพสามารถนำไปใช้งานได้ทันที อาชีพการทำอิฐมอญและเครื่องปั้นดินเผา ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญมาแต่โบราณ และมีการสืบทอดมาสู่ลูกหลานกระทั่งปัจจุบัน
แม้คนมอญที่ประกอบอาชีพนี้จะล้มหายตายจากไป แต่ชื่อ”อิฐมอญ” ก็ยังคงอยู่ตลอดไป อาชีพชาวไทยรามัญนิยมทำอิฐเผา ปั้นหม้อ ตุ่ม กระถาง ฯลฯ และทำได้อย่างวิจิตรงดงาม มีคุณภาพ เจ้านายในวังผ่านไปมาเห็นคนมอญทำอิฐเผาสร้างวัด จึงได้สั่งเข้าไปก่อสร้างในวัง ต่อมาเห็นว่ามีความแข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำไปใช้ในการก่อสร้างครั้งต่อ ๆ มา จนได้ชื่อเป็นที่กล่าวขนานกันเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักว่า “ อิฐมอญ” เรียกชื่อตามคนที่ทำ หรือ เรียกชื่อตามสถานที่แหล่งที่ผลิต เช่น เรียกโอ่งใส่น้ำขนาดใหญ่ว่า ตุ่มสามโคกเพราะทำที่สามโคก เรียกหม้อหุงข้าว หรือ หม้อต้มยาดินเผาว่า หม้อบางตะนาวศรี เพราะทำที่บางตะนาวศรี ดั้งนั้น อิฐมอญ จึงเป็นสัญลักษณ์สินค้าแห่งคุณภาพจากการศึกษาสืบทอดทางวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างมั่งคงทำให้เครื่องปั้นดินเผาของไทยรามัญปรากฏเป็นหลักฐานการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่กระทั่งทุกวันนี้
ปัจจุบัน “อิฐแดง” หรือ “อิฐมอญ” ถูกพัฒนาให้มีหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่สะดวกสะบายมากขึ้น ทั้งอิฐแดง 4 รู อิฐแดง 2 รูใหญ่ อิฐแดงตันเครื่อง อิฐแดง 3 รู จนถึงอิฐแดง 8 รู และอิฐแดง มอก. ที่มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นไปตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด มีความแข็งแกร่ง ทนทาน สามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย
ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม