แสงแดด ลม และฝน เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และหลายครั้งที่แดด ลม และฝน ได้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ ซึ่ง “้บ้าน” เปรียบเสมือนสิ่งกำบังภัยจากธรรมชาติให้แก่เรา แต่เราเองก็ไม่ควรละเลยการสร้างเกาะกำบังภัยให้กับบ้านเช่นกัน ในบทความนี้ พี่อิฐจะบอกถึงปัญหาพาบ้านพังจากภัยธรรมชาติ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง พร้อมแนะนำวิธีสร้างบ้านรับมือภัยธรรมชาติ เพื่อให้บ้านของคุณคงทน แข็งแรงยาวนานตลอดอายุการใช้งาน
- ปัญหาบ้านพังที่เกิดจากแดด
- ปัญหาบ้านพังที่เกิดจากลม
- ปัญหาบ้านพังที่เกิดจากฝน
ปัญหาที่เกิดจากแดด
ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าแดดในประเทศไทยนั้นร้อนขนาดไหน ซึ่งแสงแดดไม่ได้ส่งผลให้รู้สึกร้อนเพียงเท่านั้น แต่ความร้อน หรืออุณหภูมิที่สูงมาก ๆ ก็มีผลกับตัวบ้านด้วย จนถึงขนาดทำให้วัสดุภายในบ้านพัง หรือตัวบ้านเกิดรอยแตกร้าว เช่น
ร้อนจนบ้านพัง
ปัญหานี้ มักพบในบ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อับ มีส่วนปิด หรือทึบมากเกินไป ทำให้ความสามารถในการระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อตัวบ้านต้องโดนแสงแดดแผดเผาเป็นเวลานาน ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะห้อง หรือจุดที่รับแสงแดดโดยตรง และเมื่อไม่มีการระบายอากาศที่ดี บรรยากาศภายในบ้านจึงมีความร้อนสูง จนอาจทำให้เกิดปัญหากระเบื้องระเบิด หรือเกิดรอยแตกร้าว จากการขยายตัวของวัสดุเมื่อโดนความร้อน
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : ไม่ควรสร้างบ้านที่มีส่วนปิดทึบมากเกินไป ควรมีช่องระบายลม หน้าต่างในทุก ๆ ห้อง เพื่อป้องกันการกักเก็บอากาศร้อนไว้ภายใน และปลูกต้นไม้ในด้านที่จะต้องเผชิญกับแสงแดดโดยตรง เพื่อลดทอนแสงแดดที่จะส่องเข้ามาในตัวบ้าน ในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันแสงแดดได้จริง ๆ อาจแก้ไขได้โดยการเพิ่มช่องระบายอากาศบนฝ้าเพดาน ให้ความร้อนสามารถระบายออกไปสู่ชายคาได้
ปัญหาที่เกิดจากลม
ลมเย็น ๆ ที่พัดมา เชื่อว่าใคร ๆ ก็คงชอบ เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย แล้วยังเป็นตัวช่วยให้อากาศถ่ายเท แต่ลมที่พัดแรงเกินไปก็สามารถสร้างภัยให้กับบ้านได้ และบางครั้ง ลมแรง ๆ ก็มาพร้อมกับพายุที่อาจจะทำให้หลังคาบ้านเสียหาย จนถึงขั้นหลุดออกจากตัวโครงสร้างได้เลย
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : ควรออกแบบให้ช่องเปิด หรือช่องระบายอากาศบนหลังคา ให้อยู่ต่ำลงมาจากผืนหลังคาประมาณ 1 เมตร เพื่อลดความแรงของลมที่จะพัดผ่านช่องเข้าไป แล้วดันตัวหลังคาออก พร้อมติดตั้งแผ่นปิดลอน เพื่อป้องกันลมแรง และยึดโครงสร้างหลังคาไว้กับเสา หรือผนังบ้านอีกหนึ่งชั้น เพื่อความแข็งแรง
ปัญหาของลมไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องความแรงเท่านั้น แต่ลมที่เปลี่ยนทิศก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดมรสุม หรือฤดูฝนที่มีฝนตกบ่อย ปัญหาลมเปลี่ยนทิศจะพัดพาน้ำฝนให้ไหลย้อนเกล็ดหลังคาเข้ามาในบ้าน
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : เลือกใช้แผ่นหลังคาที่มีบัวดักน้ำ และลิ้นรางซึ่งมีความสามารถในการป้องกันน้ำไหลย้อนเกล็ดกระเบื้อง ในกรณีที่บ้านของคุณไม่ได้ใช้แผ่นหลังคาดังกล่าว วิธีแก้ไขคือการเติมซิลิโคนในส่วนที่เกิดน้ำย้อน เพื่ออุดร่อง ไม่ให้น้ำสามารถไหลเข้าไปได้
ปัญหาที่เกิดจากฝน
หากพูดถึงข้อดีของฝน หลายคนคงนึกถึงอากาศเย็น ๆ ชุ่มชื้น และเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้พืชพันธุ์เจริญเติบโต ไม่แห้งแล้ง แต่หากพูดถึงข้อเสียของฝน โดยเฉพาะข้อเสียที่ส่งผลให้กับบ้านแล้ว ก็มีเยอะไม่แพ้กัน เช่น
ฝนกรดกัดกร่อน
เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากมลภาวะในอากาศ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น และมีโรงงาอุตสาหกรรมมากมาย ฝนกรดนอกจากจะเป็นพิษต่อสุขภาพของคนแล้ว ยังสามารถกัดกร่อนโลหะ และปูนได้อีกด้วย จึงถือว่าเป็นอันตรายต่อบ้านของเรา
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : ทาน้ำยาเคลือบผนังที่ป้องกันฝนกรด หรือทาสีภายนอกอาคาร โดยเฉพาะสีที่ผสมซิลิโคน ซึ่งจะไปสร้างฟิลม์เคลือบผิวผนังไว้อีกชั้นหนึ่ง
น้ำซึมเข้ารอยแตกร้าว
แม้ว่ารอยแตกร้าวจะเป็นรอยเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลเสียในด้านโครงสร้างให้กับบ้าน แต่รอยแตกร้าวพวกนี้ โดยเฉพาะรอยร้าวใกล้กับวงกบประตู-หน้าต่าง ก็เป็นช่องที่น้ำฝนสามารถซึมผ่านเข้ามาได้ ซึ่งจะสร้างปัญหาที่ตามมาอีกมากมายเลยล่ะครับ
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : ตรวจเช็คดูรอบ ๆ บ้าน ว่ามีจุดที่เกิดรอยแตกร้าวหรือไม่ และควรทำการซ่อมแซมแก้ไขทันที หากเป็นรอยแตกร้าวเล็ก ๆ สามารถอุดรอยแตกร้าวด้วยซิลิโคน โดยใช้ปืนอัดฉีดวัสดุอุดรอยร้าวเข้าไปให้เต็ม ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท แล้วใช้กระดาษทรายขัดตกตกแต่งซิลิโคนส่วนเกิน จากนั้นทาสีทับเพื่อปกปิดรอยการซ่อมแซมเพื่อความสวยงาม เรียบร้อย
ความชื้นในผนังและเชื้อรา
ปัญหานี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความชื้นที่เกิดจากการรั่วซึมของน้ำฝนที่ผ่านเข้ามาทางรอยแตกร้าว หลังคารั่ว ความชื้นจากน้ำฝนที่ไหลเข้าไปขังอยู่ใต้ดิน หรือไม่มีการเคลือบผนังด้วยวัสดุกันความชื้น ซึ่งคุณสามารถอ่านวิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ที่ วิธีรับมือกับปัญหาผนังชื้น ในหน้าฝน
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : การแก้ปัญหาเบื้องต้นของปัญหาที่กล่าวมาด้านบน นั่นคือการระบายอากาศภายในบ้าน โดยการสร้างช่องเปิด หรือช่องระบายอากาศเพิ่มเติม และหมั่นเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้ความชื้นที่สะสมอยู่ภายในระบายออกสู่ภายนอก
ดินทรุด ไหลเข้าใต้ตัวบ้าน
อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ในช่วงฤดูฝน เกิดจากการที่ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขัง เพราะระบายไม่ทันเป็นผลให้ดินรอบ ๆ เกิดการทรุดตัว ทำให้รอบ ๆ ตัวบ้านของคุณดูไม่สวย เพราะช่องว่างระหว่างดินที่ทรุดตัวจะทำให้เห็นโครงสร้างรากฐานลอยขึ้นมา นอกจากนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านทรุด และเป็นแหล่งสะสมความชื้น เพราะน้ำฝนจะไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา : ทำการปิดช่องว่างโดยการขุดดินรอบ ๆ บ้านออกให้เป็นร่องลึกลงกว่าหน้าดิน จากนั้นวางปิดช่องว่างด้วยพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป กดลงไปให้แน่น แล้วทำท่อ หรือช่องระบายอาาศ เพื่อระบายอากาศภายใน ช่วยลดความชื้นจากใต้ดิน ปิดท้ายด้วยการนำดินที่ขุดออกมากลบรอบ ๆ พื้นคอนกรีต เท่านี้ก็สามารถป้องกันดินไหลเข้าใต้ตัวบ้านได้แล้วล่ะครับ
สิ่งที่ดีที่สุดในการรับมือกับภัยจากธรรมชาติ ไม่ใช่การแก้ไข แต่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติ และวางผังบ้านตั้งแต่เริ่มก่อสร้างให้ถูกทิศทาง แดด ลม ฝน เพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา
ที่มา : นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ ที่ 502
และ baanlaesuan.com