“อิฐแดง” จากดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ เป็นวัสดุหลักที่ใช้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับตึก อาคาร บ้านเรือน ตั้งแต่สมัยอดีต รวมถึงใช้เป็นวัสดุเพื่อตกแต่งที่นิยมในปัจจุบัน แต่กว่าจะได้อิฐแดงแต่ละก้อนนั้น ต้องใช้วัตถุดิบ และผ่านขั้นตอนการผลิตอะไรมาบ้าง ไปดูกันเลยครับ
วัตถุดิบในการผลิตอิฐแดง
1. ดินเหนียวปนทราย
ดินเหนียวปนทราย เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอิฐแดง จึงควรเลือกดินเหนียวที่คุณภาพดี เพราะอิฐแดงจะแข็งแกร่ง ทนทานหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบด้วย ซึ่งดินเหนียวที่ดีต้องไม่เหนียวจนเกินไป และมีทรายปนอยู่ เพราะทรายจะช่วยป้องกันการหดตัว การแตกร้าว และเสริมความแข็งแกร่งให้กับอิฐแดง แต่ต้องผสมอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากมีมากจนเกินไปก็อาจทำให้ก้อนดินเผาแตกหักได้
วิธีการตรวจสอบคุณภาพของดินเหนียวทำได้โดยการนำดินเหนียวมาปั้นเป็นก้อน แล้วนำไปตากแดดทิ้งไว้ หากดินเหนียวมีการหดตัว แตกหัก หรือเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิม ก็อาจจะหมายถึงว่าดินเหนียวนี้ยังไม่ดีพอที่จะนำมาผลิตอิฐแดง
2. ขี้เถ้าแกลบ
เถ้าของแกลบที่ได้จากการเผาอิฐแดงในครั้งก่อน เป็นส่วนผสมที่ใช้ในขั้นตอนการเตรียมดิน และช่วยเพิ่มความหนาแน่นให้กับดินเหนียว เพราะในดินเหนียวมีน้ำอยู่มาก นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุดิบที่ทำให้เนื้ออิฐแดงมีรูพรุน จึงมีคุณสมบัติดูดซับน้ำ และปูนได้ดี ง่ายต่อกรนำไปก่อ ฉาบ
3. น้ำ
น้ำอาจไม่ใช่วัตถุดิบหลัก เพราะในดินเหนียวจะมีน้ำอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ มีหน้าที่เป็นส่วนผสมเพื่อปรับสภาพของดินเหนียว ให้มีความเหนียวที่เหมาะสมกับการผลิตอิฐแดง เพราะหากดินเหนียวมีความเหนียวมากเกินไป จะทำให้เป็นอุผสรรคต่อการรีดอิฐ เมื่อนำเข้าเครื่องรีดดินจะไปติดอยู่ที่ปากเครื่องรีด และออกมาไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ความเหนียวจนเกินไปจะทำให้อิฐดิบหดตัวในขณะเผา และแตกหาก เสียรูปทรง
4. ฟืน และ แกลบ
เป็นเชื้อเพลิงในการเผาอิฐแดง และจำแนกประเภทของอิฐแดงโบราณ นอกจากนี้แกลบยังเป็นส่วนผสมในอิฐแดงบางประเภท เช่น อิฐแดงโบราณเผาแกลบ จะผสมแกลบลงไปในเนื้อดินเหนียวด้วย ผิวสัมผัสที่ได้จะขรุขระ ไม่เรียบเนียน สำหรับคนชอบกลิ่นอายของความโบราณ และความดิบ เท่ ที่มักจะเห็นในการตกแต่งแบบสไตล์ลอฟ์ท
ขั้นตอนการผลิตอิฐมอญ
1. ขั้นตอนเตรียมดิน
ก่อนนำดินเหนียวไปขึ้นรูป จะต้องนำมาหมักไว้ในบ่อหมัก ผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น น้ำ แกลบ แล้วแต่ชนิดของอิฐแดงที่ต้องการผลิต โรยขี้เถ้าแกลบทับด้านบนเพื่อเป็นการรักษาความชื้นของดินเหนียวไว้ หมักทิ้งไว้ 1 – 2 วัน หรือจนกว่าดินเหนียวจะมีคุณภาพเหมาะสมที่จะนำไปขึ้นรูปได้
2. ขั้นตอนรีดขึ้นรูป
ในสมัยก่อนจะใช้แรงงานคนย่ำเท้า คลุกเคล้าดินเหนียวกับส่วนผสมต่าง ๆ ให้เข้ากันจนกว่าดินเหนียวจะมีเนื้อเนียนดี แล้วนำมาอัดลงในแม่พิมพ์ไม้ ได้ครั้งละ 5 ก้อน ซึ่งใช้เวลานานมาก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมาช่วยย่นระยะเวลา ซึ่งทำให้การรีดอิฐมีความสะดวก รวดเร็ว และมีมาตรฐานมากขึ้นเกือบ 20 เท่า แต่ในการผลิตอิฐแดงโบราณ หรืออิฐแดงตันมือ อาจใช้การผลิตแบบเก่าอยู่บ้าง เพื่อให้คงความโบราณ และได้ผิวสัมผัสแบบเฉพาะตัว
3. ขั้นตอนตากดิน
ขั้นตอนนี้เป็นการเตรียมก้อนดินเหนียวก่อนนำไปเผา เพื่อไล่ความชื้น และให้ก้อนอิฐดิบแข็งตัว โดยจะนำไปผึ่งลมในที่ร่ม 2-3 วัน หลังจากทำการรีดขึ้นรูป ห้ามนำไปตากแดดทันที เพราะอาจทำให้ก้อนอิฐดิบเกิดการแตกร้าว เมื่อเริ่มแข็งตัวจึงค่อยนำไปตากแดดต่ออีกประมาณ 3-4 วัน หรือจนกว่าอิฐดิบจะมีคุณภาพพร้อมเผา ทั้งนี้มีหลายปัจจัยทำให้ก้อนอิฐดิบแห้งช้า เช่น ฝนตก หรือมีแสงแดดไม่เพียงพอ
4. ขั้นตอนเผาอิฐแดง
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย และถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ใช้เวลานาน ใช้ความละเอียดอ่อน พิถีพิถัน และเสียค่าใช้จ่ายมากที่สุด เพราะต้องใช้แกลบที่เป็นเชื้อเพลิงในการเผาประมาณ 2 คัน รถสิบล้อ ซึ่งปัจจุบันแกลบนั้นมีราคาตันละเกือบ 2,000 บาท จากเดิมเมื่อ 20 ปีก่อน มีราคาเพียงตันละ 100 – 200 บาท ผู้ผลิตจึงนิยมเก็บอิฐดิบรอไว้เพื่อที่จะเผาพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการลดต้นทุน อิฐที่นำเข้าเตาเผาแต่ละครั้ง จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 – 100,000 ก้อน โดยวางเรียงซ้อนกันเอาไว้ในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือผืนผ้า พร้อมเผาได้ทันที แล้วนำแผ่นเหล็ก หรือแผ่นสังกะสีมาตั้งล้อมรอบอิฐดิบที่เรียงกันไว้ จากนั้นตักแกลบใส่จนคลุมอิฐดิบทั้งหมด แล้วจึงจุดไฟเผา โดยมีฟืนเป็นเชื้อเพลิงร่วม ใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน ที่อิฐดิบจะสุกกลายเป็นอิฐแดง ที่พร้อมใช้งาน