งานรับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นงานที่ต้องทำร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคนในทีมก่อสร้างเอง ผู้ว่าจ้าง วิศวกร สถาปนิก หรือซัพพลายเออร์ และแน่นอนว่าเมื่อต้องประสานงานกับคนเป็นจำนวนมาก ก็มักจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา ในบทความนี้พี่อิฐจึงอยากจะแชร์สิ่งดี ๆ อย่าง “กฏ 9 ข้อ ที่ผู้รับเหมาควรรู้ ก่อนรับงาน” ที่จะช่วยให้การวางแผน จัดการงานก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างง่ายขึ้น ลองไปดูกันนะครับ
| บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ราคาอิฐแดง ปี 2563 (เฉพาะภาคกลาง)
- สูตรคำนวณการใช้อิฐแดงก่อผนังที่พี่ช่างควรรู้!
1. เลือกลูกค้าที่ดูเชื่อถือได้ จ่ายตรงเวลาชัวร์
ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน แต่ถ้าเจ้าของงานไม่จ่ายเงิน เราจนแน่ เพราะฉะนั้นการเลือกลูกค้า ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ผู้รับเหมาควรคำนึงถึง คุณควรศึกษาที่มาที่ไปของลูกค้า ดูประวัติความน่าเชื่อถือให้ดีว่าเคยมีประวัติเบี้ยวเงินผู้รับเหมาหรือไม่ หากลูกค้าเป็นบริษัทหรือมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็จะง่ายต่อการตรวจเช็คยิ่งขึ้น
รองลงมาคือให้คุณลองสังเกตุว่าลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงานบ่อย ๆ หรือใช้เวลาในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ นานเกินไปหรือไม่ เพราะจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของงาน ที่เกิดการล่าช้าตามมา และส่งผลต่อค่าจ้างรายวันที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย
และเมื่อได้ลูกค้าที่เห็นว่าไม่น่าจะมีความเสี่ยง หรือต่อให้ลูกค้าจะดูมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่ก่อนเริ่มงานก็ต้องขอให้ลูกค้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างให้รัดกุมด้วย เพื่อเป็นหลักประกัน และความสบายใจให้กับผู้ร่วมทีมทำทุกคนนะครับ
2. รับงานที่ถนัด เชี่ยวชาญ ทำได้สบาย ไม่ติดขัด
นอกจากจะเลือกลูกค้าแล้ว ผู้รับเหมาก็ควรดูด้วยว่า งานที่ลูกค้าจะให้ทำเป็นงานที่คนในทีมถนัด และมีประสบการณ์มากพอหรือไม่ เมื่องานนี้เป็นงานที่ทุกคนในทีมถนัด และเชี่ยวชาญ ก็จะทำให้งานสำเร็จไปได้โดยง่าย และง่ายต่อการควบคุมงาน ควบคุมเวลา และต้นทุนในการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้
แต่หากเลือกรับงานที่คนในทีมไม่ถนัด ไม่มีความชำนาญ ก็เสี่ยงต่อการทำงานที่ล่าช้า และงบประมาณบานปลาย ที่อาจเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน ต้องซื้อวัสดุใหม่ เสียทั้งงาน เสียทั้งเวลา แถมยังต้องเสียเงินเพิ่ม สุดท้ายค่าแรงที่เหลือก็อาจจะไม่คุ้มค่าเหนื่อย เพราะฉะนั้นเลือกงานที่ถนัดเถอะครับ จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
3. เสนอราคาแบบเหมาะสม ได้กำไร ไม่ขาดทุน
หลายครั้งที่ผู้รับเหมามักจะเสนอราคาในการทำงานที่ต่ำ เพราะคิดว่ายิ่งต่ำมากเท่าไหร่ ยิ่งมีเปอร์เซ็นที่จะได้งานสูง แต่ลืมคิดไปว่าราคาที่เสนอไปอาจจะทำให้ขาดทุน หรือไม่ได้อะไรเลยนอกจากเสียแรงไปเปล่า ๆ เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ได้มีเพียงค่าแรงเท่านั้น แต่ยังมีค่าวัสดุ ค่าความเสียหายและความเสี่ยง ค่าของค่าแรงปรับราคา ค่าโอที และค่าดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาจึงควรเสนอราคาที่สมเหตุสมผลกับงาน และเป็นราคาที่ต้องได้กำไรอย่างน้อย 10-15% ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน
นอกจากนี้ ข้อเสียของการเสนอราคาที่ต่ำมาก ๆ อาจทำให้ลูกค้า หรือผู้ว่าจ้างไม่มั่นใจในฝีมือ และการทำงานของทีม เพราะอาจคิดว่าผู้รับเหมาจะทำงานลวก ๆ ไม่ละเอียด และเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์คุณภาพต่ำในการก่อสร้าง รวมถึงลดขั้นตอนบางส่วนไปเพื่อให้งานดำเนินโดยใช้เวลาที่เร่งรีบ ผลงานที่ออกมาก็จะไม่ดี จุดนี้ก็เป็นอีกจุดที่อาจทำให้ผู้รับเหมาพลาดที่จะได้รับงานเช่นกันครับ
ทั้งนี้ การขาดทุนอาจจะไม่ได้เกิดจากการเสนอราคาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการที่โดนลูกค้า หรือผู้ว่าจ้างกดราคาด้วย ผู้รับเหมาจึงควรแจกแจงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ผู้ว่าจ้างเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นราคานี้ หรือทำไมถึงลดกว่านี้ไม่ได้ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย และหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่โอเคกับราคา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาคุยต่อนะครับ
4. ตรวจเช็คราคาวัสดุให้แน่ใจ จะได้ไม่เข้าเนื้อ
ผู้รับเหมาบางรายมักทำการเสนอราคาดำเนินการก่อสร้าง โดยที่ยังไม่เช็คราคาวัสดุในช่วงนั้น ๆ ให้แน่ใจเสียก่อน จะด้วยความเคยชิน หรือคิดว่าราคาของวัสดุน่าจะยังคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่จุดนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่อาจทำให้ผู้รับเหมาขาดทุน หรือทำงานไม่ได้กำไรแบบไม่รู้ตัว เพราะราคาที่เสนอไปอาจจะต่ำกว่าราคาจริง พอถึงหน้างานเลยต้องหักจากเงินจากส่วนอื่นไปทบให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น คนในทีมที่ตกลงค่าแรงไว้แล้วไม่พอใจที่ค่าแรงต้องโดนหัก สุดท้ายก็ต้องใช้เงินกลางของบริษัท หรือหัวหน้างาน เจ้าของธุรกิจ เรียกได้ว่าเข้าเนื้อเต็ม ๆ
เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาควรเช็คราคาค่าวัสดุก่อนทุกครั้ง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาอาจจะเล็กน้อย แต่เมื่อสั่งซื้อในจำนวนมาก ค่าต่างเพียงเล็กน้อยที่ทบกันไปเรื่อย ๆ ก็ไม่เล็กน้อยอีกต่อไป และเมื่อเช็คแล้วควรทำสัญญา หรือมีใบเสนอราคาซื้อขาย ที่บอกราคาชัดเจน เพื่อป้องกันการขึ้นราคาในภายหลัง
5. วางแผนการใช้เงินทุนหมุนเวียน ก่อนที่คุณจะเวียนหัว
เงินหมุน หรือกระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นเงินที่ผู้รับเหมาต้องนำมาใช้ก่อน ระหว่างที่ยังไม่ได้รับค่างวด ซึ่งผู้รับเหมาเกือบทุกราย ก็น่าจะเคยประสบกับปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ ดังนั้นผู้รับเหมาจึงควรมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 30% ของมูลค่างานก่อสร้างที่รับมา เพราะการรอเบิกเงินระหว่างงวดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้งานล่าช้าได้ เมื่องานช้าต้นทุนของผู้รับเหมาจะสูงขึ้น ยิ่งลูกค้า หรือผู้ว่าจ้างจ่ายเงินไม่ตรงกับระยะเวลาที่กำหนด ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา กำไรที่คิดว่าจะต้องได้ ก็จะลดน้อยลง
เงินทุนหมุนเวียนจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้รับเหมาในการรับงานแต่ละครั้ง จึงควรวางแผนการใช้จ่ายแต่ละครั้งให้ดี รวมถึงดูแล และควบคุมค่าใช้จ่ายตลอดเวลาว่าถูกต้อง และสอดคล้องกันหรือไม่
6. วางแผน ควบคุมต้นทุนก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
การวางแผน ควบคุมต้นทุนก่อนเริ่มงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเป็นจริงแล้วผู้รับเหมาส่วนมากมักไม่ได้ดูแลในสวนนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากจะดูแล แก้ปัญหาที่น่างานมากกว่า จนไม่มีเวลาเก็บข้อมูลบันทึกต้นทุนที่จ่ายออกไป ซึ่งต้นทุน และค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้างสามารถออกได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายออกไปเพื่อสั่งซื้อวัสดุ จ่ายค่าแรง เงินสดย่อย และอื่น ๆ ทำให้มีโอกาสที่ต้นทุนจะผิดไปจากที่ได้วางแผนไว้
เพราะฉะนั้น ผู้รับเหมาควรวางระบบเอกสาร และวิธีการทำงานให้เหมาะสมเพื่อให้รวบรวมต้นทุนและค่าใช้จ่ายทุกรายการให้ได้ เรียกได้ว่าต้องเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ วันต่อวัน บางทีม บางบริษัทมีฝ่ายควบคุมต้นทุนก่อสร้างไว้โดยเฉพาะ ทำให้ติดตามค่าใช้จ่ายได้อย่างใกล้ชิด แต่สำหรับผู้รับเหมาที่ไม่มีตรงจุดนี้ พี่อิฐขอแนะนำ pojjaman.com และ builk.com ที่มีเครื่องมือ และโปรแกรมควบคุมต้นทุนระบบออนไลน์ที่ใช้ง่าย สะดวก สามารถติดตามค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเหมือนลงไปควบคุมด้วยตัวเอง
7. สร้างสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์
ซัพพลายเออร์ก็ไม่ต่างอะไรกับหุ้นส่วน ที่จะช่วยให้งานของเราสำเร็จ หรือเติบโตได้ การมีซัพพลายเออร์ที่ดีจึงมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะซัพพลายเออร์จะช่วยลดต้นทุนค่าวัสดุ หรือหาสินค้าที่ดีให้กับผู้รับเหมาได้ในราคาที่ถูกลงกว่าตลาด ยิ่งซื้อมาก ก็ยิ่งลดมาก ยิ่งเป็นขาประจำก็จะยิ่งได้รับความไว้วางใจ ซึ่งอาจจะได้สิทธิพิเศษ เช่น การขอเครดิต ยืดหยุ่นการชำระเงิน
เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาควรรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ และพยายามชำระเงินให้ตรงเวลา เมื่อเกิดการซื้อขายที่ดี ซัพพลายเออร์เองก็จะพยายามช่วยผู้รับเหมาในฐานะลูกค้าที่ดี เพราะเขาก็ไม่อยากเสียเราไปเช่นกัน
8. ควบคุมงานให้เป็นไปตามแผน อย่างมืออาชีพ
ผู้รับเหมาที่ดี จะต้องมีการควบคุม และดำเนินงานให้สำเร็จไปตามแผนที่วางไว้ แต่หากงานเสร็จไวกว่ากำหนด โดยที่คุณภาพยังคงเหมือนเดิม ลูกค้าถูกใจกว่าเดิมแน่นอน ดังนันผู้รับเหมาต้องมีเทคนิคในการทำงานให้เป็นไปตามแผนเสมอ คุยเรื่องแบบให้จบในทีเดียว และพยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างดำเนินงานน้อยที่สุด เพื่องานที่ไม่สะดุด ไม่มีปัญหา เมื่องานเสร็จ นอกจากลูกค้าจะพึงพอใจกับงานจนอาจนำไปบอกต่อแล้ว ผู้รับเหมาเองก็ยังมีเวลาเหลือพอที่จะไปรับงานเพิ่มได้
9. ดูแลลูกค้าดั่งญาติมิตร
เมื่อเลือกลูกค้าได้ตามข้อที่ 1 แล้ว นอกจากการดำเนินงานให้ดีเป็นไปตามแผน ผู้รับเหมาที่ดีก็ต้องดูแลลูกค้าให้ดีด้วย เพราะต้องอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน หรือเป็นปี ๆ ผู้รับเหมาจึงต้องมีการสื่อสารอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมากับลูกค้า พยายามปฏิบัติตามข้อตกลง และสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกันตั้งแต่เริ่มต้นโครงการไปจนส่งมอบงาน หากลูกค้าได้รับการบริการที่ดีก็จะเกิดความประทับใจ และมีโอกาสที่จะกลับมาใช้บริการอีก หรือได้รับงานจากการแนะนำของลูกค้าเดิม
พี่อิฐเชื่อว่าผู้รับเหมาหลาย ๆ ท่าน คงรู้เรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นกฏพื้นฐานที่ผู้รับเหมาควรใส่ใจ แต่คงจะมีบ้างที่อาจจะละเลยบางข้อไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และเทคนิคการควบคุมงานของแต่ละคน ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขอเพียงยึดหลักการบริการที่ดี เท่านี้ก็จะได้รับโอกาสที่ดีกลับมาแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง : builk.com