Search
กฎหมายคุ้มครองผู้รับเหมา และเจ้าของบ้าน ไม่มีสัญญาจ้างก็ฟ้องร้องได้

กฎหมายคุ้มครองผู้รับเหมา และเจ้าของบ้าน ไม่มีสัญญาจ้างก็ฟ้องร้องได้

          หลายคนที่ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาสร้างบ้าน อาคาร สถานที่ หรือต่อเติมส่วนต่าง ๆ อาจเคยประสบกับปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานกลางคัน หรือผู้รับเหมาหอบเงินหนีไปเสียดื้อ ๆ ซึ่งสร้างปัญหาหนักใจให้กับผู้ว่าจ้างไม่น้อยเลย แต่ผู้รับเหมาหลายรายเองก็เคยมีประสบการณ์ผู้ว่าจ้างโกงเช่นกัน อย่างนี้ต่างฝ่าย ต่างสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง แล้วถ้าไม่มีหลักฐานสัญญาจ้างจะฟ้องร้องได้มั้ย มีกฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ในบทความนี้มีคำตอบครับ 

 

 | บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

ปัญหาจากผู้รับเหมา สำหรับเจ้าของบ้าน

          แน่นอนว่าปัญหาทิ้งงานกลางคัน คือปัญหาหลักที่มักจะพบเจอกันได้บ่อย ๆ จากผู้รับเหมาที่ไม่ได้ทำธุรกิจในนามนิติบุคคล ซึ่งตรวจสอบประวัติ และผลงานได้ยาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องอาศัยการตรวจสอบอย่างละเอียดจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทรับตรวจบ้าน อย่างปัญหาการทำงานที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ผู้รับเหมาข้ามขั้นตอนการดำเนินงานบางขั้นตอนไป ผู้รับเหมาเลือกใช้วัสดุที่มีเกรดต่ำกว่าที่ทำเสนอราคา ส่งผลเสียระยะยาวให้กับสิ่งปลูกสร้าง หรือปิดบังความชำรุดบกพร่องของงาน รวมไปถึงปัญหาส่งงานล่าช้ากว่ากำหนดด้วย

 

ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ สำหรับเจ้าของบ้าน

 

มาตรา 587
          บัญญัติว่า ‘อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น’

 

มาตรา 593
          บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย’

 

มาตรา 596
          บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลงหรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้’

 

มาตรา 599
          บัญญัติว่า ‘ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดีท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร’

 

มาตรา 600
          บัญญัติว่ ‘ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้’

 

ปัญหาจากเจ้าของบ้าน สำหรับผู้รับเหมา

          ปัญหาหลักจากผู้ว่าจ้าง ที่ผู้รับเหมาต้องเผชิญ คือ ปัญหาการจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ปัญหาผู้ว่าจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ ไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ปัญหาผู้ว่าจ้างเพิ่มงานไปเรื่อย แต่ไม่เพิ่มเงิน และสัญญาปากเปล่าทำเสร็จผู้ว่าจ้างไม่จ่ายเงินที่อาจจะยากต่อการฟ้องร้อง ดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีหลักฐาน หรือหลักฐานอาจไม่มากพอ

 

ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ สำหรับผู้รับเหมา

 

มาตรา 387
          ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้

 

มาตรา 224
          หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกกว่านั้น ท่านอนุญาตให้พิสูจน์ได้

          จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากผู้รับเหมา ที่ส่งผลเสียให้กับเจ้าของบ้าน หรือปัญหาจากเจ้าของบ้าน ที่ผู้รับเหมาต้องเผชิญ ก็ล้วนฟ้องร้องเอาผิดได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาจ้าง แต่สามารถนำพยานบุคคลเข้าสืบ เพื่อให้ได้ความจริงก็เพียงพอแล้ว

 

 

ข้อมูลอ้างอิง : บริษัท ทนายใกล้ตัว จำกัด 

 

Share this post